เศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ หรือ Social-Solidarity Economy (SSE)

แนวคิด SSE กับการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

เศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (SSE) ประกอบด้วย 5 มิติ โดย แรงงาน สิ่งแวดล้อม และความมั่งคั่ง ซึ่งเป็น 3 มิติแรกที่ระบบให้ความสำคัญ แรงงานจะต้องเป็นศูนย์กลางของธุรกิจและการพัฒนา และ อีก 2 มิติคือ  ค่านิยมทางจริยธรรมที่ควรให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน มิติสุดท้ายคือ ธรรมาภิบาล ธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม โครงสร้างการบริหารจึงควรเน้นการมีส่วนร่วมและยึดหลักประชาธิปไตย

โดยภาพรวม เศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการจัดการทางสังคมและเศรษฐกิจที่เน้นความสมดุล ดำเนินการอย่างเป็นองค์รวม และให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการ การตัดสินใจร่วมกันของกลุ่มและชุมชน และธรรมาภิบาลจึงเป็นสิ่งสำคัญในโมเดลนี้

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้คอนเซปต์ SSE โดยการถอดบทเรียนความสำเร็จของกิจการเพื่อสังคมแบบ SSE ของหมู่บ้านพังกุงอาร์โจ ประเทศอินโดนีเซีย

  1. มีผู้นำเป็นคนท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้ง ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
  2. ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของ การดำเนินกิจการต้องได้รับความยินยอมและการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยตรง
  3. คนนอกชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ แต่ไม่ได้เข้ามาเป็นผู้นำ
  4. การสร้างแบรนด์ของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ
  5. กิจการ SSE จะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีนโยบายของรัฐที่ช่วยสนับสนุน

ประสบการณ์การนำแนวคิด SSE มาใช้ในประเทศไทย

เส้นทางของการสร้างกิจการร้านปลาออร์แกนิก แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกเป็นช่วงที่ได้รับเงินทุนสนับสนุน เป้าหมายหลักคือการสื่อสารเรื่องราวของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับในสังคม เพื่อให้เกิดการสนับสนุนของนโยบายรัฐ และให้เกิดกฎหมายที่จะเอื้อหนุนให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านยังสามารถมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ในช่วงนี้ทีมงานเลือกเอาผลผลิตของชาวประมงพื้นบ้านมาสื่อสารกับคนกรุงเทพฯ แม้ตอนนั้นเรื่องรายได้ยังไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่สังเกตได้ว่า มีการตอบรับของผู้บริโภคถึงคุณภาพของอาหารทะเลที่ดี นำไปสู่ช่วงที่สองของการจัดการกิจการที่เพิ่มมิติเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาอย่างชัดเจน คือการพัฒนาเส้นทางของอาหารทะเลที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย นอกจากนี้โจทย์ในช่วงที่สองคือการช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่ทำอยู่สามารถดำเนินต่อไปได้เมื่อวันหนึ่งโครงการเงินทุนสนับสนุนจบลง นำไปสู่ช่วงที่สามที่มีการลงมติจากพี่น้องชาวประมงใน 7 จังหวัดชายทะเลของไทยที่ร่วมโครงการ ตกลงจดทะเบียนเป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม

‘ร้านปลาออร์แกนิก’ อยู่บนขาของตัวเองมาจนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 9 ปี มีการผลักดันให้มีกฎหมายของรัฐที่ส่งเสริมพี่น้องชาวประมงในแต่ละพื้นที่ให้สามารถทำมาหากินในบางประเด็นที่เคยติดขัดได้มากขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง รวมทั้งเห็นคุณค่า  ตัวตน และหน้าที่ของตัวเองในสังคมในฐานะคนที่ช่วยรักษาความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ  นอกจากนี้ยังเกิดความงอกงามในพื้นที่ คนในชุมชนไม่ได้โฟกัสแค่การขายปลาส่งมากรุงเทพฯ เท่านั้น พวกเขาสามารถพัฒนากิจกรรมภายใต้องค์กร จดทะเบียนวิสาหกิจในชุมชน

ปัญหาที่ลูกจ้างทำงานบ้านต้องเจอ นั่นคือการเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการและการรองรับจากภาครัฐ รวมทั้งไม่มีตัวตนในสังคม การต้องอาศัยเพียง “ความเมตตาจากนายจ้าง” ยิ่งทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีความเปราะบางมากขึ้น เพราะรายได้และคุณภาพชีวิตในการทำงานทั้งหมดขึ้นอยู่กับความสามารถในการต่อรอง และสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านอย่างชัดเจน บ้างถูกลดเวลาทำงาน บ้างถูกเลิกจ้าง เพราะนายจ้างกลัวความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อโควิด ส่งผลทำให้สถานการณ์ของแรงงานกลุ่มนี้ยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิม เพราะบางคนที่ถูกเลิกจ้าง หากมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป อาจจะยิ่งหางานได้ยากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นำมาสู่การร่วมกันคิดสร้างแพลตฟอร์ม Homecare Thailand

ความท้าทาย

  1. การรับงานจากแพลตฟอร์มจะต้องทำงานตามชั่วโมงตามที่ผู้ว่าจ้างจองเข้ามา นั่นหมายความว่าจะต้องทำงานให้เสร็จภายในช่วงเวลาจำกัด
  2. การใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างเป็นข้อจำกัดของกลุ่มแรงงานลูกจ้างทำงานบ้านโดยเฉพาะคนที่มีอายุมากที่อาจจะยังเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีได้ช้า ทำให้การแข่งขันกดรับงานเป็นเรื่องท้าทาย

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เริ่มมีสินค้าจากจีนที่เข้ามาขายในไทยด้วยราคาที่ถูกมาก ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตในไทยค้างสต็อกไม่สามารถขายได้  สมาคมเครือข่ายแรงงานอกระบบประเทศไทยผู้ทำการผลิตเองขายเองและผู้รับงานไปทําที่บ้านจึงร่วมกันสร้างองค์กรธุรกิจภายใต้ชื่อ HomeNet Thailand Brand เริ่มดำเนินงานอย่างจริงจังในปี 2562 มีการระดมหุ้นเพื่อช่วยพัฒนาสินค้า สร้างช่องทางการตลาด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับสมาชิก  นอกจากช่วยเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทีม HomeNet Thailand Brand ยังให้ความรู้เรื่องสิทธิสตรีและการถูกกดทับในฐานะผู้หญิง เพราะปัญหาที่พบคือเมื่อต้องการหารายได้มาดูแลครอบครัว ผู้หญิงมักจะถูกกดค่าแรงเพราะผู้ว่าจ้างเห็นว่าเป็นการทำงานภายในบ้านของตนเอง ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่มีต้นทุน ทั้งที่จริง ๆ แล้วแรงงานหลายคนในกลุ่มเป็นเสาหลักของครอบครัว และต้องแบกรับภาระการส่งสินค้าบางส่วน

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแผนการดำเนินกิจการ ต้องปรับเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการขายสินค้าออนไลน์มากขึ้นทั้ง โดยมีการอบรมและพัฒนาสมาชิกเรื่องการขายสินค้าทางออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีการจับคู่และเชื่อมโยงผู้ผลิตในต่างจังหวัดกับผู้แปรรูปและผู้กระจายสินค้าที่อยู่ในกรุงเทพมหานครด้วย อย่างไรก็ตามประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจของทีมยังคงมีไม่มาก เพราะจุดเริ่มต้นมาจากงานทางด้านสังคม ในอนาคตคาดหวังว่าจะเรียนรู้มากขึ้นเพื่อที่จะทำให้กิจการสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดแบบนี้ และคาดหวังว่าจะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อไป

โครงการนี้เริ่มต้นมาจากการทำวิจัยเรื่องผลกระทบต่อแรงงานแพลตฟอร์มด้านการบริการเมื่อสามปีก่อน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ Platform Economy หรือเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เมื่อทำวิจัยแล้วพบว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งร้านค้า และคนส่งอาหาร ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทแพลตฟอร์มทั้งสิ้น มีเพียงบริษัทแพลตฟอร์มเท่านั้นที่มีอำนาจในการต่อรองมากที่สุด ทำให้ตนตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วเทคโนโลยีแพลตฟอร์มมีประโยชน์ในตัวมันเอง แต่จะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายเข้ามาเป็นเจ้าของและได้ประโยชน์ร่วมกัน

ประเทศไทยยังมีการศึกษาและแลกเปลี่ยนกันน้อยเรื่อง SSE ส่วนใหญ่มักจะพูดถึง SE หรือ Social Enterprise โดยไม่ได้ระบุว่า ธุรกิจ SE อยู่ตรงไหนในเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ ตนมองว่า SE เป็นธุรกิจที่มุ่งทำเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าของร่วมมากนัก โครงการของตนจึงเน้น 2 ส่วนคือ ความเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วม และผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ในกระบวนการทำงาน ทีมต้องเข้าไปเชิญชวนร้านค้า นำเสนอคอนเซ็ปต์ อบรมและให้ข้อมูลเรื่องการใช้เทคโนโลยี ในทุกการดำเนินการต้องหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้ดำเนินไปค่อนข้างช้า เพราะต้องเริ่มจากการเข้าไปจัดตั้งให้แต่ละกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เข้มแข็งเสียก่อน จากนั้นจึงชวนทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม เพราะหลังจากนี้ทีมจะต้องถอยออกมาเพื่อให้กลุ่มต่างๆ ดำเนินกิจการกันเอง โดยทำหน้าที่เป็น facilitator อำนวยกระบวนการ ให้ความสนับสนุนเรื่องการเทคนิกเท่านั้น แต่บางครั้งก็เป็นกรรมการด้วย เนื่องจากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ตอนนี้มีการออกแบบโมเดลที่ทำให้ทีมดำเนินกิจกรรมต่อไปได้เมื่อโครงการเงินทุนสนับสนุนจบลง โดยจะเข้าไปช่วยลงทุนให้แต่ละพื้นที่ ให้ชุมชนเห็นว่าต้นทุนจริงที่ต้องใช้คือเท่าไหร่ เมื่อกิจการได้กำไรก็จะจ่ายคืนต้นทุนมา เพื่อที่ทีมจะนำเงินนั้นไปลงทุนสนับสนุนกิจการอื่นๆ ในชุมชนอื่นต่อไป

สุดท้าย ในฐานะนักวิจัยเรื่องนี้ อาจารย์อรรคณัฐให้ความเห็นว่า วัฒนธรรมของชุมชนมีส่วนอย่างมากต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ในชุมชนนั้นๆ โดยยกตัวอย่างการทำงานกับชุมชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ สังเกตเห็นว่าทุกคนมีความเข้าใจเรื่องกิจการที่เน้นการมีส่วนร่วมและมีความเข้าใจเรื่องความสมานฉันท์อยู่แล้ว

ข้อเสนอจากการเสวนา ‘สิ่งที่ควรทำต่อ’ เพื่อสร้างเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (SSE) ในประเทศไทย

  1. สังคมไทยยังต้องเรียนรู้เรื่อง SSE และถอดบทเรียน SSE ในไทยให้มากขึ้น เพราะในระดับสากลกำลังยกประเด็น SSE มาพูดคุยกัน เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่จะช่วยฟื้นฟูภาคประชาชน และจะเป็นทางออกหนึ่งหลังการแพร่ระบาดโควิด-19
  2. การเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมกลุ่ม รวมพลัง เพื่อสร้างความเข้มแข็ง รวมทั้งการเชื่อมโยงกับองค์กรภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งภาคธุรกิจ ไปจนถึงนักศึกษาและคนรุ่นใหม่
  3. ร่วมกันคิดสร้างกลไกในการพัฒนา SSE รวมทั้งผลักดันนโยบาย เพราะรัฐควรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ SSE เกิดขึ้นได้จริง
  4. สร้างพื้นที่การพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจบริบททั้งสองฝั่งนี้ เพราะบริบทสังคมไทยยังขาดคนที่มีความรู้และทักษะทั้งด้านธุรกิจและสังคม