สัมภาษณ์ผู้ค้าหาบเร่ หมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง

นางชอเอี่ยม​ จินดาวิวรรธณ์

“ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำ ไม่ขายก็อดตาย”

คุณยายชอเอี่ยม​ จินดาวิวรรธณ์ อายุ 75 ปี ผู้ค้าจากตลาดลานเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านนักกีฬา ค้าขายกับข้าวมากว่าสามสิบปี ตั้งแต่ตลาดยังเปิดใหม่ แรก ๆ ก็ขายดี แต่ตั้งแต่มีโควิด ยายชอเอี่ยมขายของไม่ดีเลย ของที่ขายไม่หมดส่วนใหญ่ก็จะแจกให้คนอื่นไปกินและเก็บกลับไปกินที่บ้านบ้าง

ยายเริ่มออกมาขายตั้งแต่หกโมงเช้าจนถึงบ่ายโมงกว่า ยายเตรียมของตั้งแต่เที่ยงคืน ทำมาเรื่อย ๆ ใส่รถเข็นมาขายตอนหกโมงเช้า เข็นมากับพี่สาวสองคน คันเล็กคัน คันใหญ่คัน เข็นมาคนละคัน ถ้าทำไม่เยอะก็เข็นมารอบเดียว ส่วนมากทำไม่เยอะ เพราะขายไม่หมด บ่ายโมงก็กลับบ้าน เพราะต้องมีคนมาขายต่อ เราต้องแบ่งกันกับคนอื่นคนละเวลา เราเก็บของเรียบร้อยเราก็พัก เที่ยงคืนก็ลุกขึ้นมาทำของใหม่ ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำ ก็ไม่มีของมาขาย ถ้าไม่ขายก็อด จ้างคนมากไม่ได้ เพราะไม่มีค่าจ้างให้เขา

ยายอาศัยอยู่กับพี่สาวและหลานอีกคน แต่หลานไป ๆ มา ๆ พี่สาวก็มีโรคประจำตัวเยอะ ทั้งเบาหวาน ความดัน และไขมัน ส่วนยายดีหน่อยไม่มีโรคประจำตัว เป็นแค่หัวเข่าเสื่อม แต่ก็ต้องกินยา ยายมีลูก 3 คน ทั้ง 3 คนมีครอบครัวหมดแล้ว แต่ละคนก็มีภาระเยอะกันทั้งนั้น ทั้งส่งบ้าน ส่งรถ ซึ่งเขาก็ต้องดูแลครอบครัวเขา ยายไม่กล้าวางแผนชีวิตในอนาคตเลย ยายคิดแต่ว่าถ้าทำไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องเลิก ตอนนี้ยังไหวก็ช่วยตัวเองไปเรื่อย ๆ ก่อน ไม่อยากรบกวนญาติเยอะ เราทำได้เองเราก็สบายใจกว่า

“ก่อนโควิด-19 รายได้พออยู่ได้ แต่ช่วงนี้แย่มาก ลงทุนไปแล้วไม่ได้ทุนคืน อย่างเช่น ลงทุนไป 1,500 บาท ได้กลับมา 1,000 บาท เท่ากับเราขาดทุน ช่วงนี้คนไม่ค่อยซื้อของกัน ทำให้ขายของไม่หมด เพราะคนเขากลัวโควิดกัน ไม่กล้าออกมาซื้อกับข้าว ตั้งแต่มีโควิด ยายก็เจอปัญหาเยอะมาก โดยเฉพาะค่าเช่าบ้าน ยิ่งตอนตลาดปิด เราก็ขายไม่ได้ ต้องประหยัดเอา มีอะไรก็ต้องกินไปก่อน เพราะมันจำเป็น และยิ่งช่วงฝนตก น้ำก็ท่วม บางทีท่วมถึงหัวเข่า ปัญหาเยอะมากเวลาฝนตก พูดจริง ๆ นะ ยายไม่อยากให้ฝนตกเลย ฝนตกแล้วแย่มาก ฝนตกยายก็เปียก แถมน้ำดำอีกด้วย”

การช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ได้เยอะ เราได้รับประจำคือ เบี้ยผู้สูงอายุ 700 บาททุกเดือน ส่วนวัคซีน ยายได้รับวัคซีน เพราะลูกพาไป ยายไปเองไม่เป็น อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องเงิน ช่วยให้ยายมีทุนประกอบอาชีพ เพื่อที่จะมีเงินส่งค่าเช่าบ้าน เพราะเราอยู่บ้านเขา ปัญหา คือ ไม่มีเงินทำทุน ยายเลยต้องกู้ ต้องขอยืมคนอื่น โชคดีหน่อยที่เราเป็นสมาชิกของสหกรณ์ เราก็ขอกู้เงินมาทำทุน และส่งทุกเดือน สหกรณ์ดีเพราะดอกเบี้ยน้อย เมื่อก่อนเรากู้หนี้นอกระบบดอกร้อยละ 20 เดี๋ยวนี้ไม่กู้แล้ว เพราะกู้ไม่ไหว ดอกเบี้ยเยอะ ยายกู้มาหมื่น ยายต้องเสียสองพัน เสียดอกเบี้ยเยอะ ตอนนี้เลิกแล้ว ไม่งั้นแย่ 

สบาย​ ไสยสาสน์

“อยากให้รัฐช่วยอุดหนุนเงินทุนประกอบอาชีพและเข้ามาดูแลคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว “

สวัสดีค่ะ ดิฉันสบาย​ ไสยสาสน์ ชื่อเล่นบาย อายุ 50 ปี ตอนนี้ขายเกาเหลาเลือดหมู และก๋วยจั๊บอยู่ที่ตลาดหมู่บ้านนักกีฬา พึ่งติดโควิดและออกมาได้ไม่กี่อาทิตย์เองค่ะ ก็เลยลองมาขายดู ดีที่ยังขายได้ดีอยู่ แต่ก็ต้องหยุดบ้างขายบ้าง เพราะทุนเรามีน้อย ขายได้วันละ 3,500 บาท แต่ยังไม่ได้หักต้นทุนวัตถุดิบนะ เฉลี่ยแล้วเดือนนึงก็ได้หมื่นกว่าบาท แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะเราเป็นพี่สะใภ้คนโต ต้องเลี้ยงน้องเลี้ยงลูกทั้งหมด เราเป็นเสาหลักของบ้าน ค้าขายอย่างเดียว

ที่บ้านอยู่กัน 7 คน ทุกคนอยู่ด้วยกันหมด เรามีแม่ที่ต้องดูแล ซึ่งตอนนี้ตาบอด หลาน 2 คน เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 2 ส่วนลูกสาวอยู่มหาวิทยาลัยปีสอง ลูก ๆ และหลาน ๆ เรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ช่วงที่กักตัวก็ได้คุณยะและทุนจากสหกรณ์ช่วยเหลือเรื่องอาหารการกิน เอาข้าวปลาอาหารแห้งไปส่งให้พวกเรา ต้องขอขอบคุณทุกคนค่ะที่ช่วยเหลือบายมาตลอด เพราะช่วงที่เราติดโควิด มีสามีทำกับข้าวได้คนเดียว นอกนั้นทำไม่ได้ สามีเป็นคนดูแลคุณแม่ เป็นคนดูแลคนในบ้าน เขาขายของไม่เป็น

เราเริ่มมาค้าขายที่ตลาดหมู่บ้านนักกีฬา เพราะพอเรามาอยู่กับแฟน บวกกับพ่อแม่มีที่อยู่ที่นี่ และมีร้านของตัวเองตั้งแต่ตลาดเปิดใหม่ ๆ รวมแล้วก็ค้าขายมากว่าสามสิบปีแล้ว เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมต่อสู้เรื่องพื้นที่ขาย ตั้งแต่ที่เขาให้ย้ายไปตลาดฝั่งตรงข้าม จนต่อสู้ได้กลับมาขายที่เดิมจนถึงทุกวันนี้ พ่อค้าแม่ค้าหลายคนก็สู้มาด้วยกัน พวกเราก็เลยช่วยเหลือซึ่งกันและกันดูแลตลาด

ก่อนโควิดรายได้พออยู่ได้ แต่พอโควิดมาหลังจากนั้นรายได้เหลือที่เดียว เมื่อก่อนขายเช้าขายเย็นได้ ตอนนี้ขายแค่ตอนเช้าอย่างเดียวกับสามี สามีไม่ได้ทำงาน เพราะพึ่งผ่าตัดสมอง เขาขายไม่เป็น เขาเลยช่วยเราดูแลแม่และช่วยเราที่ร้านบ้าง สามีดูแลแม่แทน ส่วนค้าขายเราเป็นคนขายคนเดียว ตอนตลาดปิด หาซื้อของยากมาก จากที่ซื้อของที่ตลาด ก็ต้องไปซื้อของที่ห้าง บางอย่างก็หาซื้อได้ บางอย่างก็หาซื้อไม่ได้ บวกกับทุนทำมาค้าขายเราน้อย  คิดว่าหลังจากโควิด อยากคลี่คลายหนี้สินให้หมด แล้วก็ว่าจะขายอย่างเดียว และส่งต่อร้านให้ลูก

การค้าขายตอนนี้เราก็ขายบ้าง ไม่ขายบ้าง เพราะทุนไม่พอ อยากได้ทุนประกอบอาชีพ จะได้มีทุนทำมาหากินต่อได้ อยากให้รัฐช่วยอุดหนุนเงินทุนประกอบอาชีพและเข้ามาดูแลคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว  เพราะเวลาเกิดปัญหาต่าง ๆ  ไม่มีคนมาช่วยอีกแรงเลย ภาครัฐควรเข้ามาสำรวจว่ามีประชาชนจำนวนเท่าไรที่เป็นคนทำมาหากินคนเดียว ที่ต้องเลี้ยงดูคนทั้งบ้าน เพราะรายได้เราไม่เพียงพอ อีกอย่างอยากให้ภาครัฐเข้ามาถามข่าวคราวคนในหมู่บ้านคนอื่น ๆ ด้วย เผื่อจะมีคนที่ลำบากมากกว่าเรา ซึ่งเขาอาจจะได้รับสิ่งดี ๆ อีกเยอะ

ช่วงโควิดเราและสามีได้รับเงินเยียวยาจากรัฐคนละ 5,000 บาทอย่างเดียว ส่วนวัคซีนได้แค่สองคน คือ แม่ที่ตาบอดกับแฟน ส่วนเราลงทะเบียนไม่ทันกับเขาสักที ทำแล้วก็เลื่อน แต่เราก็คอยลงตลอด ส่วนลูกสาวบอกจะไปลงที่โรงเรียน ตอนเรายังไม่ได้รับวัคซีน มีผลกระทบ คือ ค้าขายก็ไม่ได้ เพราะเราขายได้แค่คนเดียว พอเราติดโควิด ซี่งเราเป็นเสาหลักของที่บ้าน ก็คือหยุดกันหมดเลย ไม่มีรายได้อะไร

นางสาวเรณู เดวีเลาะ

“การรวมกลุ่มกันทำให้เรามีพลัง ทุกครั้งเมื่อเราเจอปัญหา เรายังสมาชิกที่ค่อยช่วยเหลือกัน”

สวัสดีค่ะ ดิฉันนางสาวเรณู เดวีเลาะ ประธานตลาดลานเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านนักกีฬา และเป็นกรรมการสหกรณ์บริการชุมชนหมู่บ้านนักกีฬา ดิฉันและเพื่อน ๆ ได้ขายของในบริเวณนี้มาตั้งแต่ปี 40 ต่อมาทางการเคหะฯ ได้มาตีเส้น เพื่อที่จะจัดระเบียบให้กับพวกเรา และมีการเก็บค่าเช่าเดือนละ 375 บาท ต่อมาทางการเคหะฯ ได้บอกว่าจะสร้างตลาดให้ได้ขายของซึ่งตรงข้ามกับตลาดที่ได้ขายอยู่ในปัจจุบัน โดยมาทราบที่หลังว่าการเคหะฯ ให้สัมปทานให้กับบริษัทเอกชน และให้เราเช่าในราคาที่ค่อนข้างสูง และให้เราอยู่ในโซนทางด้านหลัง ส่วนโซนข้างหน้าเป็นของกลุ่มนายทุน เราเลยไม่ไปขายของที่ตลาดที่เขาจัดไว้ให้

วันที่ 2 สิงหาคม 2547 ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์เป็นร้อยคนเข้ามารื้อทำลายข้าวของของพวกเรา เวลาตี 2 พวกเราก็ได้หนีเอาชีวิตรอด ต่อมาเราก็ได้ไปแจ้งความและไปร้องต่อศาล ทางเราก็ชนะคดี ทางบริษัทที่ได้ take over ไป ก็ได้มาจ่ายค่าเยียวยาให้กับพวกเรา ซึ่งได้เป็นบางส่วน บางคนเท่านั้น

ต่อมาทางการเคหะฯ ได้ฟ้องขับไล่พวกเราทั้งหมด 149 คน เราได้สู้คดีจนถึงศาลอุทธรณ์ ซึ่งการเคหะฯ ก็รอที่จะบังคับคดีกับพวกเรา ได้ให้เราขายไปก่อนจนกว่าจะหาที่รองรับให้ โดยสัญญาไว้ว่าฝั่งตรงข้ามตลาดที่เป็นลานโล่งจะจัดให้กับพวกเรา

ปี พ.ศ. 2550 กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าได้รวมกลุ่มกัน ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ มีทุนเดือนหุ้น มีเงินออมขณะนั้นประมาณหนึ่งแสนบาท จากนั้นเราก็ตั้งกลุ่มสหกรณ์เมื่อปี 2550 มีสมาชิกขณะนี้ 200 คน มีทุนเดือนหุ้นอยู่ประมาณ 5 ล้าน ทางกลุ่มมีการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนตลอดเวลา ทุกครั้งที่ชุมชนมีโครงการทางกลุ่มจะให้ความร่วมมือทุกเรื่อง และมีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยของชุมชม โดยทางตลาดได้ให้เป็นเงินกับชุมชนในการดูแลกล้องวงจรปิด ทางตลาดได้มีการจัดงานวันเด็ก ซึ่งทำเป็นประจำทุกปี และมีการคืนกำไรให้กับชุมชน

ช่วงก่อนโควิด ขายของได้ดีทุกร้าน เมื่อเกิดโควิดได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก คนไม่ค่อยเดินตลาด แล้วก็มีพวกเราบางคนติดโควิดซึ่งประมาณ 25 คนจาก 200 คน และบางร้านที่เป็นที่นั่งกินก็ไม่ได้ขายของ ร้านที่ขายเสื้อผ้าก็ไม่ได้ขาย ส่วนคนขายอื่น ๆ ก็ขายของค่อนข้างน้อย ลดไป 50%

การช่วยเหลือสมาชิกของทางกลุ่ม

ทางกลุ่มได้ช่วยเหลือสมาชิก จากการดูว่าใครที่เดือดร้อนและจะเข้าไปดูแลเรื่องของถุงยังชีพ ซึ่งเราได้รับความเมตตาจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพหรือ HomeNet Thailand และจากสมาพันธ์แรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย ที่ได้นำถุงยังชีพมาให้ จึงนำไปส่งต่อให้กับสมาชิกและคนในชุมชนที่เดือดร้อน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ใหญ่ใจดีร่วมกับตลาด ได้นำข้าวกล่องมาแจกเป็นประจำบริเวณตลาด

ข้อดีของการรวมกลุ่มและช่วยเหลือกันในภาวะวิกฤตที่ผ่านมา

การรวมกลุ่มกันทำให้เรามีพลัง และทำให้เกิดความสามัคคี ทุกครั้งเมื่อเราเจอทุกข์ภัย สามารถเรียกสมาชิกเข้ามาช่วยเหลือกันได้ง่าย และสามารถต่อรองกับภาครัฐได้ค่อนข้างที่จะมีประสิทธิภาพ และสามารถที่จะพูดคุยกับทางชุมชน ภาครัฐ ได้ผลดี

สิ่งที่อยากจะบอกกับภาครัฐ

  1. อยากให้ช่วยในเรื่องทุนในการประกอบอาชีพ ดอกเบี้ยต่ำหรือให้เปล่า เพราะว่ามีสมาชิกหลายครอบครัวที่ลำบาก เนื่องจากมีคนป่วยที่บ้าน ขายของไม่ดี และบางคนก็กู้หนี้นอกระบบ ทำให้รู้สึกสงสารและเห็นใจ จึงอยากให้ช่วยในส่วนนี้
  2. อยากให้มีการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง เพราะว่าการเข้าถึงวัคซีนค่อนข้างลำบาก
  3. การลงทะเบียนเงินเยียวยา เนื่องจากสมาชิกบางคนทำไม่เป็น ทำให้ไม่ได้รับเงินเยียวยาเลยและพลาดโอกาสในส่วนนี้ไป จึงอยากให้รัฐเข้ามาลงตามทะเบียนบ้านมากกว่า