เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย Network of Domestic Workers in Thailand
ความเป็นมา
เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ก่อตัวขึ้นเมื่อปี 2552 โดยการรวมตัวกันของผู้แทนจากหลายองค์กรในชื่อ “คณะทำงานเพื่องานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน” โดยมีมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Foundation for Labor and Employment Promotion – FLEP) เป็นผู้ประสานงานต่อมาในปี 2553 คณะทำงานได้ร่วมผลักดันให้เกิด “เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย” โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแก้ปัญหาของลูกจ้างทำงานบ้านที่ต้องทำงานหนักโดยไม่ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองโดยทุกฝ่ายเชื่อว่าการที่ลูกจ้างทำงานบ้านตระหนักในปัญหาของตนและรวมตัวกันสร้างเครือข่ายเพื่อรณรงค์และเรียกร้องสิทธิและคุ้มครองทางสังคมให้แก่ตนเองน่าจะเป็นแนวทางในปัญหาที่ดีที่สุด ปัจจุบันเครือช่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทยประกอบไปด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ คือ เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านคนไทย (Network of Thai Domestic Workers in Thailand) และเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านข้ามชาติ (Network of Migrant Domestic Workers in Thailand) ในปัจจุบันเครือข่ายฯมีสมาชิกประมาณ514คน
วัตถุประสงค์
- ส่งเสริมพัฒนาการรวมกลุ่ม และสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกรวมถึงเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้าน
- รณรงค์กฎหมาย และนโยบาย ด้านสิทธิแรงงาน และการคุ้มครองทางสังคมให้กับลูกจ้างทำงานบ้าน
- เสริมสร้างเอกภาพและความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกของเครือข่าย และเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านอื่นๆ รวมทั้งสหภาพแรงงาน องค์กรสตรี องค์กรสิทธิมนุษยชน ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล
กิจกรรม
เครือข่ายฯ ได้จัดกิจกรรมให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญได้แก่
- การส่งเสริมการรวมกลุ่มและสร้างความเข้มแข็ง เนื่องจากเครือข่ายให้ความสำคัญกับจำนวนสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้น และการพัฒนาศักยภาพของสมาชิก โดยการจัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อให้ความรู้กับสมาชิก ในเรื่องที่เป็นประโยชน์และสมาชิกให้ความสนใจ ได้แก่ กฎกระทรวงคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การปฐมพยาบาล สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน การเข้าเมืองและการทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย เป็นต้น
- การรณรงค์เรื่องกฎหมาย นโยบาย เครือข่ายได้รณรงค์ให้มีกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านและการบังคับใช้กฎหมายอย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรณรงค์ให้สำนักงานประกันสังคมขยายความคุ้มครอง มาตรา 33 แก่ลูกจ้างทำงาน รวมทั้งรณรงค์ให้มีการใช้จรรยาบรรณในการจ้างลูกจ้างทำงานบ้านเพื่อให้ลูกจ้างทำงานบ้าน ได้รับการคุ้มครองเพิ่มมากขึ้น
- การจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก ได้แก่กิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์ซึ่งเริ่มก่อตั้งในปี 2557 ถือว่าประสบความสำเร็จ และสามารถนำผลกำไรมาใช้ในการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เครือข่ายฯ มีกองทุนช่วยค่าทำศพแก่สมาชิกที่เสียชีวิต และเมื่อต้นปี 2561 ได้เริ่มมีการก่อตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือ เรียกว่า “กองทุนยุติธรรม” โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือกับพี่น้องลูกจ้างทำงานบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิ และไม่มีเงินทุนในการต่อสู้ อีกทั้งเครือข่ายฯ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก รวมทั้งการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือให้คำปรึกษาด้านกฎหมายเบื่องต้นกับลูกจ้างทำงานบ้านผ่าน Hotline นอกจากนั้น เครือข่ายฯ ยังมีการเข้าร่วมรณรงค์ในระดับสากลกับเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านทั่วโลก เพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิและการใช้ความรุนแรงกับลูกจ้างทำงานบ้านอีกด้วย
- การทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานและนายจ้าง เพื่อสานต่อกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับลูกจ้างทำงานบ้านทุกคนในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างทั่วถึง การส่งเสริมให้มีการใช้จรรยาบรรณในการจ้างลูกจ้างทำงานบ้าน การส่งเสริมให้ใช้สัญญาจ้างงานที่ได้มาตรฐาน การแก้ไขขั้นตอนการขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติให้ง่าย และมีราคาไม่แพง การจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่ลูกจ้างทำงานบ้านอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือการสร้างทัศนคติที่ดีของนายจ้างและสังคมต่ออาชีพลูกจ้างทำงานบ้าน
กรรมการ
ปัจจุบันเครือข่ายฯ มีกรรมการทั้งสิ้น 15 คน เป็นแรงงานไทย 12 คน และแรงงานข้ามชาติ 3 คน ดังต่อไปนี้