
วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล” แรงงานหลากหลายอาชีพรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ควรจะได้รับของแรงงานหญิง มีการจัดกิจกรรมมากมาย และหลากหลายทั่วทุกมุมโลก อย่างไรก็ตามกว่าที่สิทธิสตรีจะได้รับการยอมรับสตรีเองก็ต้องต่อสู่อย่างหนักกว่าจะได้รับสิทธิ และเสรีภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยในปัจจุบันปัญหาของแรงงานนอกระบบยังไม่ถูกแก้ไขและถูกมองข้ามจากภาครัฐ ทั้งที่มีแรงงานหญิงที่เป็นแรงงานนอกระบบมากถึง 22 ล้านคนที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่น หาบเร่-แผงลอย, ผู้รับงานไปทำที่บ้าน, ผู้ทำการผลิตที่บ้าน, ลูกจ้างทำงานบ้าน, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง, หมอนวด, คนเก็บของเก่า และอาชีพอื่นๆอีกมากมาย
ดังนั้น ทางสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ(ประเทศไทย) จึงได้ร่วมกับ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) จัดกิจกรรมยื่นหนังสือข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย

สำหรับวันสตรีสากล ประจำปี 2566 จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้
- รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับต่างๆดังนี้
- ฉบับที่ 177 ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้าน
- ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา
- ฉบับที่189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน
- ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงานโดยเฉพาะการเลิกจ้างหญิงตั้งครรภ์ และการล่วงละเมิดทางเพศให้เป็นคดีอาญาที่ยอมความไม่ได้
- รัฐต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามที่จ่ายจริง 100% และให้เร่งรัดการจ่ายค่าจ้างวันลาคลอด 98 วันตามมติ ครม. ที่เห็นชอบให้ครบถ้วน
- รัฐต้องกำหนดมาตราการเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบ รวมถึงหามาตราการ ปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยา เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงานและเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมให้เป็นไปตามหลักการ การดำเนินธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน(UNGP) ที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบัน
- รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 3,000 บาท
- รัฐต้องกำหนดสัดส่วนผู้หญิง ชาย และเพศภาพ ในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3 เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม
- รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันหยุดตามประเพณี
- รัฐต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เป็นไปตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- รัฐต้องให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคมมาตรา 33
- ขอให้รัฐบาลไทยเจรจากับทางการพม่าให้แรงงานสามารถต่อเอกสารในประเทศได้