ประชุม คณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ (คนช.) ครั้งที่ 1/2564 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เข้าร่วมการประชุม คณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ (คนช.) ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานสาระสำคัญประกอบด้วย

  1. ผลการดำเนินงานประจำปี 2564 ซึ่ง กระทรวงแรงงานและหน่วยงานอื่น ๆ ดำเนินงานส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาแรงงานนอกระบบ จำนวน 8,329,562 คน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3,216,861,510 บาท ความคืบหน้า
  2. ความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ซึ่งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น 330 ราย โดยร้อยละ 95 เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้โดยไม่มีข้อเสนอแนะ และอีกประมาณร้อยละ 5 เห็นด้วยโดยมีข้อเสนอแนะ หลักการสำคัญของ ร่างพ.ร.บ. คือ การทำให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีความปลอดภัยในการทำงาน มีหลักประกันทางสังคม มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นองค์กร ได้รับการส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งกระทรวงแรงงานมีเป้าหมายเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาของคระรัฐมนตรีภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้ 
  3. ความคืบหน้าการดำเนินงานฟื้นฟูคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) อันสืบเนื่องมาจากการยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 14 ข้อของสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ(ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และแรงงานนอกระบบกลุ่มอาชีพต่าง ๆ จาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เมื่อ วันที่ 7 ธันวาคม 2563 โดยกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานไปแล้ว 8 ข้อ และอยู่ในระหว่างดำเนินการอีก 6 ข้อ ซึ่งประกอบด้วย
    • ให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทสไทย หรือรัฐบาล กำหนดมาตรการ โครงการ หรือปรับปรุงระเบียบการกู้ยืมเงินโครงการกองทุนเงินกู้ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงานนอกระบบ
    • ให้กรุงเทพมหานครปรับปรุงกฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการคืนพื้นที่ค้าขายให้กับหาบเร่แผงลอย
    • ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พิจารณาแนวทางการสนับสนุนการพัฒนาแอพลิเคชั่น การให้บริการมอเตอร์ไซด์รับจ้าง การขายสินค้า และบริการอื่น ๆ ของแรงงานนอกระบบ
    • ให้สำนักงานประกันสังคมศึกษาแนวทางการพัฒนาสิทธิประโยชน์และขยายขอบเขตความคุ้มครองผู้ประกันตนมาตรา 40 เช่นการประกันการมีงานทำ และการประกันการว่างงาน (รวม 3 ข้อเรียกร้อง)
  4. พิจารณาแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2563-2565 และร่างแผนปฎิบัติการประจำปีงบประมาณ 2564