ชีวิตของแรงงานหญิงข้ามชาติในประเทศไทย

 

 

“หากชีวิตอยู่บนพื้นฐานของสิทธิของเรา ทุกคนก็จะได้สิทธิ อย่างน้อยทุกคนได้สิทธิและไม่ต้องต่ำกว่าสิทธิที่เราจะต้องได้”

Kyan Par

สวัสดีค่ะ ฉันชื่อจำปา เป็นประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านข้ามชาติในประเทศไทย อายุ 46 ปี ฉันเป็นคนเมียนมา สัญชาติพม่า เชื้อสายเนปาล อาศัยอยู่รัฐคะฉิ่น ปู่ย่าตายายของฉันเป็นคนเนปาล ที่อพยพมาอยู่ที่พม่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฉันสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากประเทศพม่า ตอนนี้ประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างทำงานบ้านมาเป็นระยะเวลา 29 ปี ตั้งแต่ฉันอายุ 17 ปี

พ่อของฉันเสียไปตั้งแต่ฉันอายุ 5 ปี ดังนั้น แม่ของฉันเป็นคนเลี้ยงดูลูกทั้ง 9 คนมาโดยตลอด ฉันเห็นญาติพี่น้องหลายคนในหมู่บ้าน เวลากลับมาบ้านมักมีของติดไม้ติดมือมาตลอด และผู้หญิงส่วนใหญ่จะส่งเงินกลับมาให้ที่บ้านมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้ชายมักจะเก็บเงินไม่ค่อยอยู่ พวกเขาบอกฉันว่า พวกเขาหลายคนไปทำงานที่กรุงเทพ ซึ่งตอนนั้น ฉันไม่รู้ว่ากรุงเทพคืออะไรและไม่รู้ว่าพวกเขาทำงานอะไร แต่ฉันเห็นเขามีเงินส่งกลับมาบ้าน ทำให้ฉันคิดอยากจะไปทำงานที่กรุงเทพ ฉันเข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 17 ปี ซึ่งเป็นการทำงานที่ประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย เพราะรัฐบาลยังไม่เปิดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติในสมัยนั้น ทำให้พวกเราต้องทำงานแบบหลบซ่อน การหางานนั้นง่ายกว่าปัจจุบันมาก เพราะไม่ค่อยมีแรงงานข้ามชาติมาทำงานในประเทศไทย

ปัญหาของการจ้างงานในช่วงแรก คือ ภาษา ฉันไม่รู้ภาษาเลย แต่ฉันพูดภาษาฮินดีได้ ทำให้ฉันมีตัวเลือกมากกว่าคนอื่น ฉันจึงตั้งใจหางานบ้านคนอินเดีย ที่พูดภาษาฮินดีได้ ตอนอายุ 17 ปี ฉันเริ่มทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก พอฉันทำงานมาได้สักระยะ ฉันก็เริ่มรู้ภาษาไทยมากขึ้น ทำให้ฉันรับรู้ถึงอคติของเพื่อนร่วมงานคนไทย ซึ่งทำงานเป็นแม่บ้านและพี่เลี้ยงเหมือนกัน เวลาเขาเห็นฉัน เขาก็จะบอกว่า “ฉันไปแย่งงานของเขา” ตอนฉันได้ยิน ฉันก็รู้สึกผิด ที่ทำให้คนไทยหางานยาก อีกทั้งเพราะฉันได้รับเงินเดือนน้อยกว่าคนไทยและ ก็ทำงานให้นายจ้างในวันหยุด สิ่งที่ทำให้ฉันคิดแบบนี้ เพราะสมัยก่อนฉันทำงานแบบผิดกฎหมาย แต่ตอนนี้ฉันเปลี่ยนความคิดแล้ว เพราะฉันทำงานแบบถูกกฎหมายทุกอย่าง ฉันเสียภาษี เสียค่าวีซ่า จ่ายค่าใบอนุญาตทำงาน ทำให้ฉันรู้สึกว่ามีสิทธิมากขึ้น ฉันไม่ได้เอาเปรียบเขา ทุกคนมีโอกาสจะมาทำงานได้ และอยู่ที่การตัดสินใจของนายจ้าง นอกจากนี้ภาระหน้าที่ของลูกจ้างทำงานบ้านมีเยอะมาก บางทีคนไทยไม่เพียงพอ แต่ก็มีบางครั้งที่นายจ้างไม่รับสัญชาติพม่า บางที่รับคนพม่าเท่านั้นก็มี เพราะว่านายจ้างเห็นว่าจ่ายค่าจ้างน้อย ชั่วโมงทำงานเยอะกว่า

ฉันทำงานแบบไม่มีสัญญาจ้าง ซึ่งไม่มีกำหนดระยะเวลา ส่วนใหญ่ฉันทำงานกับนายจ้างอย่างน้อย  2 ปี ฉันทำงานเป็นแม่บ้านให้กับกับคนอินเดีย 5 ปี แต่พอแม่ไม่สบายก็เลยลาออกกลับไปดูแลแม่ หลังจากนั้นทำงานกับคนต่างชาติเกือบ 10 ปี เขาก็ไม่ได้บอกว่าจะจ้างฉันถึงสิบปี ฉันก็อยู่จนกว่าเขาจะย้ายไปทำงานที่อื่นหรืออยู่จนกว่าเขาจะย้ายกลับประเทศ ระหว่างทำงานที่ประเทศไทย การเงินของครอบครัวดีขึ้นมาก เพราะฉันส่งเงินไปให้ที่บ้านหมดเลย ความเป็นอยู่ที่บ้านก็ดีขึ้น

ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการจ้างงานคืออะไร ปัญหาที่ฉันเจอตอนนั้น ฉันไม่รู้ว่ามันเป็นปัญหา ซึ่งฉันพึ่งรู้ตอนนี้ว่ามันเป็นปัญหา นั้นคือ การไม่มีวันหยุด ตอนนั้นฉันอยากจะหยุด ฉันก็หยุดไม่ได้ ฉันไม่รู้เลยว่าฉันต้องหยุด จนฉันเห็นว่าเพื่อนฉันมีวันหยุด ดังนั้น ฉันจึงลาออกจากงาน และหางานที่มีวันหยุด ตอนสัมภาษณ์งานฉันก็จะเจรจาต่อรองกับนายจ้างว่าต้องมีวันหยุดเดือนละครั้งนะ

ฉันเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล ที่ให้แรงงานทุกคนขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี แต่กลไกในการเข้ามาทำงาน ค่อนข้างยุ่งยาก ทำให้แรงงานส่วนใหญ่เข้ามาทำงานแบบผิดถูกกฎหมาย เพราะโดนนายหน้าเอารัดเอาเปรียบ อยากให้รัฐบาลทำให้ง่ายขึ้น เพื่อทำให้แรงงานเข้ามาทำงานแบบถูกกฎหมายมากขึ้น และนโยบายประกันสุขภาพฉันคิดว่าดีมาก เมื่อเจ็บป่วย พวกเรายังมีเงินส่วนนี้ช่วยเหลือ เพราะเมื่อก่อนตอนพวกเราไม่มีประกันสุขภาพ พวกเราต้องจ่ายเองหมดเลย ทำงานมาต้องเอามาจ่ายค่ารักษาพยาบาลหมดเลย

ช่วง 2014 ใบอนุญาตทำงานของฉันใกล้หมดอายุ ฉันไม่รู้ว่าเลยว่าจะหันหน้าไปหาใคร หันไปทางไหนก็เห็นแต่นายหน้า เขาพูดอะไรเราก็ต้องเชื่อเขา ฉันไม่มีโอกาสได้ฟังว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร พอเกิดเรื่องฉันก็มาเจอกับ HomeNet Thailand ที่ทำให้ฉันได้เข้าฟังภาครัฐว่าจะดำเนินการกับแรงงานข้ามชาติต่อไปอย่างไร พอฉันได้ฟัง ฉันก็กลับมาเล่าให้เพื่อนฟัง และฉันก็ได้เจอลูกจ้างทำงานบ้านคนไทย และรู้ว่าพวกเขามีเครือข่าย และกฎกระทรวงฉบับที่ 14 ที่คุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน ทำให้ฉันได้รู้ว่าลูกจ้างทำงานบ้านมีสิทธิ มันเป็นสิทธิของเรา สิ่งที่ฉันรู้มา ฉันก็อยากให้เพื่อนได้รู้ เพื่อให้เขาสามารถต่อรองกับนายจ้างและมีความรู้ทางกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน มันไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา แต่เป็นเรื่องของสิทธิ เราสามารถหยุดได้ ลาได้ ฉันเคยคิดว่าเรามีวันหยุด เพราะนายจ้างใจดี หรือไม่มีวันหยุด เพราะความโชคร้าย แต่จริง ๆ ไม่ใช่ หากชีวิตอยู่บนพื้นฐานของสิทธิของเรา ทุกคนก็จะได้สิทธิ อย่างน้อยทุกคนได้สิทธิและไม่ต้องต่ำกว่าสิทธิที่เราจะต้องได้ ฉันเลยคิดว่าเราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องอาศัยพี่ ๆ คนไทย เพราะเรามีอาชีพเดียวกัน การมารวมตัวกันกับพี่ ๆ คนไทย ทำให้อคติระหว่างเชื้อชาติลดลง คนไทยเข้าใจเราและเราก็เข้าใจคนไทย เมื่อเรามีปัญหา เราพูดคนเดียวเสียงไม่ดังและไม่มีใครฟัง ในเมื่อลูกจ้างทำงานบ้านมีปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าจะคนไทยหรือคนข้ามชาติ เรารวมตัวกัน เพื่อให้เสียงของเราดังขึ้น

เรามีเครือข่ายและจัดกิจกรรมด้วยกัน การเป็นกลุ่มทำให้ผู้คนเห็นเรา คนสนใจอยากจะให้ความรู้กับลูกจ้างทำงานบ้าน เช่น ความปลอดภัยในการทำงาน ส่วนใหญ่คนที่ทำงานเป็นลูกจ้างทำงานบ้าน เป็นผู้หญิง มีความเป็นมารดา ที่กฎหมายไม่คุ้มครอง รัฐบาลมักมองว่างานลูกจ้างทำงานบ้านเป็นงานไม่ได้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเราทำงานที่บ้าน เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ทำให้เราไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 แต่ฉันคิดว่าไม่ใช่ เพราะเราเองก็มีงาน ออฟฟิศของเราคือบ้านนายจ้าง เรามีสิทธิที่จะได้ประกันสังคม 33 เช่น เวลาลูกจ้างทำงานบ้านตกงาน เราก็จะตกงานไปเลย ไม่มีใครมารับรอง ความเป็นมารดาก็ไม่มี เรามีนายจ้าง เราเป็นลูกจ้าง เราเป็นคนทำงาน เราอยากอยู่ในระบบ งานเราไม่ควรถูกกีดกันให้เป็นแรงงานนอกระบบ เราดูแลลูกของนายจ้าง เราดูแลพ่อแม่ของนายจ้าง เพื่อให้เขามีเวลาออกไปทำงานข้างนอก โดยที่เขาไม่ต้องเป็นห่วงบ้าน ฉันอยากบอกกับสังคมว่า ลูกจ้างทำงานบ้าน ไม่ใช่งานที่ต่ำต้อย แต่เป็นงานสุจริตที่สามารถหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้เหมือนอาชีพอื่น งานที่เราทำก็คืองาน เราเป็นแรงงาน เราแค่ทำงานในบ้านของนายจ้าง บ้านนายจ้างคือสถานที่ทำงาน นายจ้างเป็นคนจ่ายค่าจ้างให้กับเรา เวลาซื้อของในร้านสะดวกซื้อ เราก็ซื้อราคาเท่ากัน ร้านไม่ได้บอกว่าเราเป็นใคร แล้วเขาจะให้เราซื้อถูกกว่า เราได้เงินมาจากการทำงาน เราใช้จ่ายเท่ากัน

ช่วงโควิด ลูกจ้างทำงานบ้านได้รับผลกระทบหลายด้าน คนที่เคยทำงานไปกลับ บางคนถูกพักงาน บางบ้าน นายจ้างทำงานอยู่ที่บ้านและลูก ๆ ของพวกเขาไม่ได้ไปโรงเรียน งานของพวกเราก็เยอะขึ้น เด็กเรียนออนไลน์เราต้องเรียนกับเขาด้วย บางคนทำงานหลายบ้าน นายจ้างก็กลัว บางคนตกงานไปเลยก็มี อย่างน้องสาวของฉัน เงินเดือนลดลง เพราะงานลดลง นอกจากนี้ช่วงโควิดที่ระบาดหนักที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้เกิดการกีดกันทางสังคม คนข้างบ้านกลัวเรา มองว่าคนพม่าจะนำเชื้อโรคเข้ามาติดพวกเขา แต่จริง ๆแล้วโควิดไม่เลือกเชื้อชาติ ไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาติก็ติดเหมือนกัน เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมกับเรา พวกเราต้องร่วมกันแก้ไข