ชีวิตและความอยู่รอด ภายใต้แรงกดดันทางเศรษฐกิจ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา แรงงานนอกระบบจำนวนมากยังไม่สามารถฟื้นตัวจากวิกฤติหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ อีกทั้งภาวะเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ทำให้แรงงานนอกระบบได้รับผลกระทบจากวิกฤติค่าครองชีพที่สูงขึ้น ข้าวของแพง ต้นทุนวัตถุดิบสูง ส่งผลให้แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากและคุณภาพชีวิตลดลง

มูลนิธิฯ สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ และเครือข่ายแรงงานหญิงในเศรษฐกิจนอกระบบสากล (WIEGO) จึงได้ทำการวิจัยเชิงสำรวจผลกระทบวิกฤตค่าครองชีพต่อการดำเนินชีวิตของแรงงานนอกระบบ ระหว่างมิถุนายน – ตุลาคม 2566 โดยมีแรงงานนอกระบบ 4 กลุ่มอาชีพที่เข้าร่วมการศึกษา คือ ลูกจ้างทำงานบ้าน ผู้ทำการผลิตที่บ้าน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง และหาบเร่แผงลอย และจัดเสวนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อสาธารณะโดยตัวแทนกลุ่มแรงงานนอกระบบทั้ง 4 อาชีพ ดังนี้

นายจิรวัฒน์ ลาเลิศ
ตัวแทนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง 

ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้อาชีพผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างต้องทำงานหนักขึ้น มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานซึ่งส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสุขภาพที่แย่ลง

ไม่ว่าใครก็เจอผลกระทบจากค่าครองชีพ สำหรับสายอาชีพตน หลัก ๆ คือ ค่าน้ำมันและค่าน้ำมันเครื่อง โดยค่าน้ำมันก่อนปีใหม่อยู่ที่ลิตรละ 32-33 บาท แต่ตอนนี้ลิตรละ 36 บาท ซึ่งอาชีพของตนต้องเติมน้ำมันอย่างน้อยวันละ 2 รอบ ถ้าคิดเป็นต้นทุน ก็ถือว่าสูง เมื่อก่อน 100 บาทอาจวิ่งได้ทั้งวัน แต่ปัจจุบันอยู่ที่สองร้อยกว่าบาท ส่วนน้ำมันเครื่องก็ขึ้นราคา อย่างรถของตนต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุก ๆ 2,000 กิโลเมตร และอาชีพวินต้องเปลี่ยนทุกอาทิตย์ เดิมมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 120-130 บาท แต่ช่วงที่ขึ้นเยอะ ๆ จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 180-200 บาท ซึ่งราคาขึ้นอยู่แต่ละร้านด้วย หลัก ๆ ตอนนี้ค่าใช้จ่ายน้ำมันเครื่องราคา 200-240 บาท 

เมื่อก่อนคนขับวินจะอยู่ที่ตั้งวินถึงเที่ยงคืนตีหนึ่งไม่กี่คัน แต่ตอนนี้อยู่กันเยอะขึ้น วินที่สูงอายุบางคนออกเช้าแล้ว ก็ยังไม่เข้าบ้าน เพราะเงินหายากขึ้น อย่างตนเมื่อก่อนออกเจ็ดโมงเช้า เที่ยงเข้าบ้าน ปัจจุบันลากยากถึงตีหนึ่งตีสอง ตนมองว่าค่าครองชีพไม่เพียงส่งผลกระทบกับอาชีพวินเท่านั้น แต่ผู้โดยสารเองก็ต้องประหยัดเช่นกัน ปกติต้นเดือนผู้โดยสารต้องเยอะ แต่ตอนนี้ผู้โดยสารหายไปเยอะเหมือนกัน หรือบางทีผู้โดยสารบอกให้ไปส่งสถานที่ที่ไกลและมีการต่อราคา ซึ่งเราคำนวณแล้วไม่คุ้มแต่เราก็ต้องไป ไม่เน้นคุ้ม ขอให้ได้ทำงาน มีเงินเข้ากระเป๋าดีกว่า

นอกจากนี้ การอยู่ที่ตั้งวินที่นานขึ้นยังกระทบไปถึงปัญหาครอบครัวอีกด้วย กล่าวคือ เพื่อนที่วินทะเลาะกับภรรยา เพราะเขาทำงานไม่หยุด จนภรรยาคิดว่าแอบไปมีคนอื่น แต่จริง ๆ เขาขับแต่วิน ซึ่งบางทีเขาก็ต้องยอมแลกระหว่างรายได้ที่ลดลงกับการมีเวลาอยู่กับครอบครัว ซึ่งเพื่อนของตนเลือกที่จะกลับบ้านเร็วขึ้นและหยุดวิ่งวินบ้างเป็นบางวันเพื่อให้มีเวลาอยู่กับครอบครัว ถึงแม้รายได้จะต้องลดลง ส่วนตนไม่มีปัญหาเพราะยังไม่มีครอบครัว แต่จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะนอนดึก ฝุ่นเยอะ พักผ่อนไม่เพียงพอ 

ทั้งนี้ ตนและเพื่อน ๆ ในวิน ปรับตัวด้วยการรับงานเพิ่ม อย่างเช่น กลุ่มพวกตน ก็จะรับจ้างเปลี่ยนกระจก หรือสร้างความสนิทสนมกับผู้อาศัยที่อาศัยอยู่ในละแวกที่ตั้งวิน เผื่อจะมีลูกค้าจ้างไปซื้อข้าวร้านที่ไม่เข้าร่วมแอปพลิเคชัน และเหตุที่ไม่รับงานผ่านแอปพลิเคชันและปัญหาด้านเทคโนโลยี ตนมองว่าคนในวินรุ่นใหม่ไม่มีปัญหากับเทคโนโลยี แต่วินที่สูงอายุสายตาไม่ดี บางทีไม่รู้ว่าลูกค้าโอนเงินจริงหรือไม่ เพราะเขาใช้โทรศัพท์แค่โทรเข้าโทรออกอย่างเดียว และส่วนเหตุที่ไม่เปลี่ยนไปใช้มอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า (EV) จริง ๆ ตนสนใจอยากเปลี่ยน เพราะประหยัดกว่าน้ำมัน แต่เรื่องสถานีชาร์จแบตยังไม่ครอบคลุมและมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้ายังไม่เอื้อต่ออาชีพพวกตน เพราะทำเวลาไม่ได้ อีกทั้งการเข้าถึงรถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าก็ราคาสูง 

จิรวัฒน์ กล่าวว่า แม้มีการเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำ แต่แรงงานนอกระบบไม่ได้ค่าแรงเพิ่มตามไปด้วย เห็นด้วยถ้าค่าแรงขึ้น แต่ส่วนใหญ่พอค่าแรงขึ้น ของทุกอย่างก็จะขึ้นตาม อย่างเพื่อนตนถึงแม้เงินเดือนเยอะ แต่ก็ไม่พอค่าใช้จ่าย เพราะค่าใช้จ่ายก็เยอะเหมือนกัน ตนมองว่า การที่รัฐช่วยเหลือรายใหญ่เพื่อให้รายใหญ่มาช่วยรายเล็ก ซึ่งความเป็นจริงเข้าไม่ถึงรายเล็ก แต่รัฐควรช่วยตรงลงมาที่รายเล็กเลย อีกทั้งตนมองว่า เงิน 10,000 บาท ไม่ได้ช่วยประชาชนได้จริง ๆ รัฐควรมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชนตัวเล็กก่อน อย่างเช่น หาบเร่แผงลอยมีความสัมพันธ์กับวินมอเตอร์ไซต์อย่างมาก เพราะอาชีพตนต้องไปรับไปส่งพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องไปซื้อของที่ตลาด แต่ขณะเดียวกันเมื่อรัฐไม่อนุญาตให้หาบเร่แผงลอยขายของ ทำให้ลูกค้าของอาชีพตนก็หายไปด้วย เพราะถ้ามีของขายเขาจะลงจากบีทีเอส ซื้อของและขึ้นวินเลย บางคนพอเห็นว่าไม่มีร้านให้ซื้อของ เขาก็ไม่ขึ้นวิน เพราะเขาไปเดินหาที่อื่นหรือซื้อของในห้างแทน บางทีแม่ค้าก็จ้างเราไปซื้อของให้ แต่ทุกวันนี้ไม่ได้ซื้อ รายได้ก็หายไป ซึ่งลูกค้าจริง ๆ ของเราส่วนใหญ่ คือ แรงงานนอกระบบด้วยกัน

 รุ่งฤดี มโนศรี ตัวแทนรับงานไปทำที่บ้าน 

ค่าครองชีพมันสูงอยู่แล้ว พอน้ำมันขึ้น ของก็ขึ้น แต่แรงงานนอกระบบอย่างเรามันไม่ได้ราคาขึ้น คือเย็บผ้าก็ยังราคาเท่าเดิม บางทีเขากดราคาเราด้วย

ก่อนโควิด-19 ตนมีอาชีพเย็บผ้า แต่พอโควิด-19 งานเย็บผ้าแทบไม่มี เลยต้องปรับตัวใหม่ เพื่อให้ตนและครอบครัวอยู่รอด เช่น ปลูกผักสวนครัวที่ต้องกินต้องใช้ เช่น ข่า ตะไคร ใบมะกูด โหระพา หรือเวลามีอบรมฝึกอาชีพที่น่าสนใจ ตนก็จะเข้าร่วมและสมาชิกในกลุ่มหลายคนก็หันไปขายของ ทำอาชีพเสริมกัน นอกจากนี้ยังต้องประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น ในช่วงที่น้ำมันพืชขึ้นราคาไป 60-70 บาท ตนก็บอกลูกบอกสามีว่าไม่ต้องทำอาหารที่ทอด ให้เปลี่ยนมาทำอาหารประเภทต้ม นึ่ง แทน หรือช่วงไข่ขาดตลาด ไข่ราคาสูง ก็ต้องหันไปกินอาหารอย่างอื่นมาทดแทนที่ราคาถูกลงมาหน่อย เพื่อที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงบอกคนในครอบครัวว่าถ้าอะไรที่ช่วยกันประหยัดได้ก็ขอให้ช่วย ค่าไฟแพงไม่ใช้ก็ปิด ค่าไฟเพิ่มขึ้นก็กระทบกับอาชีพของตนด้วย เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตของอาชีพตน แต่ค่าแรงไม่ได้เพิ่ม เพราะผู้ว่าจ้างเขารับงานมาตัวละ 20 บาท พอมาถึงตนราคาก็ลดลงไปอีก โดยผู้ว่าจ้างก็อ้างว่า ค่าน้ำมันแพง ซึ่งที่ตกลงกันไว้ไม่ใช่แบบนี้ แต่ตนก็ต้องยอมรับ ถ้าตนไม่ทำ ตนก็ไม่มีเงิน ดีกว่าไม่มีงานทำ ราคาก็ไม่ได้ อุปกรณ์การเย็บก็ปรับขึ้น เพิ่มทุนในการทำงาน รายได้เท่าเดิม บางทีอาจจะลดลงด้วย

ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตนต้องหาอาชีพเสริมมาทำ จากแต่ก่อนตนคิดว่าจะเย็บผ้าอย่างเดียว แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ต้องหาอาชีพอื่นที่ตนสามารถทำได้ เช่น ปลูกผัก สานตะกร้า และก็รับเป็นวิทยากรสานตะกร้า อย่างสมาชิกอายุ 70 ปี เย็บผ้าไม่ไหวแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนอาชีพไปขายของ อย่างเขาขายหมูฝอย ตนก็ทำน้ำพริก และต้นอ่อนทานตะวันให้ไปขายหน้าร้านเขา แล้วก็ชวนเขาเป็นสมาชิกกลุ่ม เวลาปันผลเขาก็จะได้ด้วย รายได้ของสมาชิกกลุ่มก็เพิ่มขึ้น ดังนั้น ตนมองว่า รัฐควรมมีนโยบายจัดซื้อจัดจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้านอย่างน้อย 30 % หรืออย่างตนผลิตสินค้าก็อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยให้มีตลาดรองรับ

รัสมี แดนดงเมือง ตัวแทนอาชีพผู้ค้าหาบเร่แผงลอย

จะมีเงินทุนไปจ่ายเจ้าหนี้ไหม จะมีเงินให้ลูกไปโรงเรียนหรือเปล่า เมื่อต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น คนซื้อน้อยลง ยอดขายลดลง แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ตนเป็นผู้ค้าหาบเร่แผงลอยขายปลาหมึกย่าง ลูกชิ้นย่าง บริเวณริมทางเท้าบางขุนเทียนพระราม 2 ซอย 69 ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพคือ ราคาวัตถุดิบขึ้นราคา คนซื้อน้อยลง จากซื้อ 10 ไม้ ก็ลดเหลือ 5 ไม้ ทำให้ยอดขายลดลง แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อย่างตนต้องใช้น้ำตาลทำน้ำจิ้ม เมื่อก่อนราคา 10 กว่าบาท ตอนนี้ขึ้นมา 30 กว่าบาท หรือถ่านจากราคา 20 ขึ้นเป็น 26 บาท ทำให้ตนต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายด้านอาชีพและครอบครัว บางทีขายแล้วก็ไม่พอใช้หนี้ เพราะตนไม่ได้กู้แค่เจ้าเดียว ทำให้ต้องแบ่งจ่ายหลายเจ้า ตัวอย่างเช่น กู้มา 10,000 บาท ต้องใช้คืน 400 ต่อวัน เป็นเวลา 30 วัน เหมือนหาเงินมาแล้ว ก็ต้องใช้หนี้ จึงพยายามจะไม่หยุดขายของ เดือนนึงถ้าหยุดจะหยุดเพียงสองวัน ถ้าจะหยุดทุกอาทิตย์เลยคงไม่ไหว นอกจากนี้เวลาลูกเลิกเรียน ตนก็ถามลูกว่า หนูอยากไปเล่นไหม น้องก็บอกว่าอยากเล่น แต่ก็อาศัยให้ลูกเล่นกับเพื่อน ๆ ในตลาดแทน 

ด้านการปรับตัว ตนจำเป็นต้องลดคุณภาพวัตถุดิบลง เพื่อให้พอแบกรับต้นทุนได้ จากที่เคยซื้อปลาหมึกเกรดสูงราคาแพง ก็ต้องยอมลดลงมาซื้อปลาหมึกที่ราคาจับต้องได้ หรือคุณภาพใกล้เคียงกับที่ตนเคยซื้อ นอกจากนี้ตนต้องออกจากบ้านมาขายของเร็วขึ้น จากเมื่อก่อนออกสี่โมงเย็น ปัจจุบันบ่ายสองโมงครึ่งก็ออกมาตั้งร้านแล้ว และอยู่ดึกขึ้นจากสองทุ่มก็สามทุ่มครึ่ง ตนนอนเที่ยงคืนตื่นตี 5 ซึ่งไม่เคยนอนถึง 8 ชั่วโมงเลย เพราะต้องเตรียมของให้ลูกไปโรงเรียนด้วย ดังนั้น ตนอยากให้รัฐเข้ามาช่วยจัดหาพื้นที่ทำการค้าที่ราคาไม่แพงมาก และสามารถทำการค้าได้จริง ไม่ใช้จัดหาพื้นที่ที่ให้พวกตนไปอยู่แล้วไม่สามารถทำการค้าได้ หรืออาจจะอะลุ่มอล่วยให้อาชีพของพวกตนสามารถทำการค้าได้ตามเดิม เพราะลูกค้าที่ซื้อของหาบเร่แผงลอยส่วนใหญ่ก็คือคนในชุมชน นอกจากนี้อยากให้รัฐเข้ามาดูแล ควบคุมราคาสินค้า ค่าเชื้อเพลิงที่อาชีพผู้ค้าหาบเร่แผงลอยต้องใช้ในการประกอบอาชีพ และอยากให้เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สิน หรือให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ

อรุณี สะแกนอก ตัวแทนอาชีพลูกจ้างทำงานบ้าน

ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ต้องคิดแล้วว่าเราเงินเดือนเท่านี้ เราต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเล่าเรียนลูกเท่าไร

ตนได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เพราะนายจ้างเองก็รายได้ลดลง ทำให้นายจ้างจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารลง จากเคยให้ 1,000 บาท ก็ลดลงมาเหลือ 800 บาท จากที่ตนเคยได้เงินพิเศษก็ไม่ได้ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายของลูกหนักมาก ค่าเช่าบ้าน ค่าอยู่ค่ากิน ค่าหนังสือค่าทุกอย่างจากเมื่อก่อน จ่ายอยู่ที่ 9,000 บาท เป็น 15,000 บาท เพราะค่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟขึ้นราคา แม้กระทั่งอุปกรณ์การเรียนก็ขึ้นราคาหมด เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญที่ตนต้องให้การศึกษาลูก  

เน้นประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ออกไปเที่ยวสร้างสรรค์กับเพื่อนฝูง จากเคยออกไปสังสรรค์ก็ไม่ไป จากเคยซื้อหวยก็งดหมด งดทุกอย่าง ลดทุกอย่างที่ตนจะลดได้ บางครั้งตนอยากกินอาหารดี ๆ ร้อยนึง พอตนเจอภาวะแบบนี้ไม่กินแล้วดีๆ เอาแค่ 50 บาท พออยู่ได้ก็พอแล้ว เพื่อเก็บเงินตรงนั้นให้ลูก สำหรับสิ่งที่อยากจะเสนอรัฐบาล คือ ตนอยากให้ลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นแรงงานนอกระบบได้เข้าประกันสังคมมาตรา 33  และมีสวัสดิการคุ้มครอง นอกจากนี้รัฐควรเข้ามาควบคุมราคาสินค้า ให้สินค้าถูกลงมากว่านี้