การเดินทางจากผู้ผลิต สู่นายกสมาคมฯ และ กรรมการHNSEA

เมื่อก่อนที่รับจากโรงงานผืนละ 25 บาท แต่ว่าเราต้องไปซื้อทุ่นเอง ซึ่งทำจากไม้ลำปอแล้วก็เอามาย้อมสี ได้ 25 บาทก็จริงแต่ว่าต้องทำหลายอย่าง จนถึงมาใช้ทุนยางแทนเพราะไม้ลำปอหายาก เขาเอายางมาให้ เราก็ต้องมาหั่นเอง ราคาก็ลดลงมาเหลือผืนละ23บาท เราก็ไม่กล้าต่อรองกับเขาเพราะกลัวเขาไม่ให้งาน แล้วกลุ่มจะไม่มีงานทำ หลายปีต่อมาเขาก็เอาของมาให้เรา หั่นทุนยางมาให้ด้วยไม่ต้องทำเอง แต่ก็ราคาก็ลดลงมาเหลือผืน 20 บาท เขาบอกว่าเขาอำนวยความสะดวกให้เรา แต่เราก็ต้องเสียเงิน100-200บาทเป็นค่าเหมารถเอาของขึ้นไปส่งให้เขาถึงในเมือง แล้วเขาก็เอาไปตั้งขายราคาผืนเป็นร้อย”

นางนุชนภา บำรุงนา

เริ่มต้นทำแหอวน

นางนุชนภา บำรุงนา ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และคณะกรรมการHomeNet South-East Asia เริ่มทำแหอวนมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เมื่อก่อนตอนเด็กหลังเลิกเรียน หรือว่าวันเสาร์-อาทิตย์ก็ช่วยพ่อแม่ทำ พอจบป.6แล้วก็ไม่ได้เรียนต่อด้วยฐานะที่ทางบ้านไม่ได้ร่ำรวย ก็เลยทำแหอวนอยู่บ้าน ไปทำงานโรงงานก็ไม่ได้เขาไม่รับ ตอนแรกเราก็ทำแค่เอาตะกั่วใส่ทุ่น ต่อมาทางโรงงานเขาก็มาฝึกให้ปะแหอวน แล้วก็ได้เข้าไปทำในโรงงานเขาก็ให้วันละ20บาท แต่ถ้าเราทำได้เยอะเขาก็จะให้ตามที่เราทำได้ บางวันก็ได้30-40 บาท ทำไปเรื่อยๆจนได้วันละ100-200บาท แล้วก็ได้เข้าเป็นพนักงานในโรงงานก็ทำแหอวนเหมือนเดิม ทำงานได้ประมาณ1-2ปีก็แต่งงาน เลยออกมาทำแหอวนเองพร้อมกับดูแลครอบครัวไปด้วย

กลุ่มแหอวนบ้านเหล่าเกวียนหัก

กลุ่มแหอวนบ้านเหล่าเกวียนหัก ในช่วงแรกที่ตั้งกลุ่มมี 17 คนจนปัจจุบันมีสมาชิก80คนแล้ว ตอนแรกเป็นแค่ต่างคนต่างทำ ทำใครทำมันไม่ได้มีการรวมกลุ่ม การที่จะบอกให้คนมารวมตัวกันมันยาก เพราะคนส่วนใหญ่ในชุมชน ไม่อยากไปไหนมาไหนเพราะกลัว เราก็กลัวเหมือนกันนะ กลัวว่าจะไปถูกไหม หรือพูดถูกหรือเปล่า แล้วก็ไม่ค่อยกล้าที่จะแสดงออกหรือพูดกับคนอื่น เงินที่ได้จากการทำแหอวนไม่ได้เยอะ บางคนก็ส่งลูกเรียนด้วย ไม่ว่าจะเป็นเงินกินเงินใช้ก็ต้องใช้จากเงินเก็บที่มี เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีฐานะกันทั้งนั้น ก็เลยจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา แล้วก็ให้มาออมกันเดือนละ50บาท พอมีเงินสักก้อนนึงใครมีปัญหาต้องการใช้เงินก็ให้มากู้ในระยะสั้น 3 เดือน แล้วก็ให้คนอื่นกู้ต่อหมุนเวียนกันไป พอมีกลุ่มออมทรัพย์คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็เริ่มให้ความสนใจและมาเข้าร่วมกันมากขึ้น ต่อมาก็ได้มารู้จักกลุ่มผู้หญิงอีสาน และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

พอได้เข้าไปอบรมได้ความรู้กับเครือข่ายผู้หญิงอีสานและ มูลนิธิฯ เราก็ได้เป็นสมาชิก ก็ได้มีการอบรมเรื่องกฎหมาย และนโยบาย จนได้รู้จักว่าคำว่า “แรงงานนอกระบบ” และก็ได้รู้ว่าเราเป็นกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน และที่สำคัญได้รู้ว่า “อาชีพเราเสี่ยงต่อการมีสารตะกั่วในเลือดจากการทำงาน

สารตะกั่ว

เราก็เห็นอยู่แล้วว่าบริบทในชุมชนเรา บางคนก็ทำตั้งแต่เด็กๆจนมีอายุมากก็ยังทำอยู่ พออายุ 60 -70 จะมีอาการนิ้วล็อก บางคนก็หลังค่อมไปเลย เห็นบางคนมีอาการแต่ว่าพิสูจน์ไม่ได้เกิดจากสารตะกั่วหรือไม่ เวลาไปอบรมก็ได้ความรู้มาว่า ถ้ารับสารตะกั่วเกินขนาดก็จะเป็นโรคนั้นโรคนี้ แต่ว่าก็ไม่ได้มีแพทย์มารับรองจริงๆ โดยเฉพาะเวลาไปหาหมอ แม้แต่หมอเองก็ไม่ได้ถามว่าเราทำงานอะไร เสี่ยงจะเป็นโรคนั้นไหม โรคนี้ไหม ก็ไม่มีการพิจารณาตรงนี้ พอมาลองดูที่คนในชุมชน ก็ดูน่าจะเป็นไปได้ว่าหลายคนได้รับผลกระทบจากสารตะกั่ว พอเรามีความรู้เราก็บอกสมาชิก บางคนที่เชื่อก็ช่วยเหลือกันกระจายความรู้ต่อกัน บางคนที่ก็ตั้งคำถามกับเราเหมือนกันว่า “ไปรู้มาจากไหน” เวลาจะทำให้เขาเห็นเอง ว่าสิ่งที่เราทำ ทำเพื่อเขาและมันได้ประโยชน์กับเขาเอง และทำให้เขาเห็นว่าการเป็นสมาชิกของกลุ่มแหอวนก็มีประโยชน์เหมือนกัน

ปัญหาก่อให้เกิดเป็นสมาคมแรงงานนอกระบบ

ประเทศไทยมี พรบ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน เราเลยไปจดทะเบียนกลุ่มแหอวนให้เป็นกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ว่ากฎกระทรวงที่มีอยู่ก็ไม่ได้ถูกเอามาใช้และบางอย่างก็ใช้ไม่ได้ อย่างเช่นกองทุนของผู้รับงานไปทำที่บ้าน เราก็ไม่สามารถกู้ได้เพราะว่า ต้องมีการค้ำประกันจากข้าราชการ เราเป็นแค่คนธรรมาดา รายได้ก็น้อย ไม่มีใครกล้ามาค้ำประกันให้เรา

ปัญหาของแต่ละกลุ่ม แต่ละอาชีพ แต่ละภาคล้วนเกิดปัญหาเดียวกัน เกิดมาเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีใครมองเห็นไม่มีหน่วยงานไหนมารับผิดชอบ แม้แต่ทางกลุ่มผู้รับงานรู้ว่านายจ้างคือใคร แต่ก็ไม่สามารถทำให้นายจ้างมาช่วยเหลือเราได้ ก็เลยคิดว่าจะทำยังไงหน่วยงานรัฐเห็นถึงปัญหาของกลุ่มแรงงานนอกระบบ เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างเศรษฐกิจของประเทศเหมือนกัน พอมาพูดคุยระดมปัญหากันก็ได้รู้ว่าแรงงานนอกระบบล้วนเจอปัญหาเหมือนๆกัน การถูกเอาเปรียบเรื่องค่าแรง บางอาชีพก็ถูกโกงค่าแรง เช่น อาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า “เวลาเขาส่งงานมาแค่นี้ แต่เวลาส่งกลับไปน้ำหนักก็เพิ่มขึ้น ด้าย เข็ม อุปกรณ์ต่างๆ เราซื้อเอง ค่าขนส่งเราก็จ่ายเอง” ก็เลยคิดว่าการตั้งสมาคมขึ้นมาจะได้ช่วยเหลือกัน เวลาเรารณรงค์ เวลาเราเรียกร้องก็จะมีเสียงมากขึ้น หลากหลายกลุ่มมากขึ้น อาจจะมีน้ำหนักให้รัฐสนใจและช่วยประสานให้เรากับนายจ้างได้ทำงานแบบช่วยเหลือกัน ไม่ใช่ว่าเราอยากได้มาก แต่เรามองความเป็นธรรม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะได้ทำงานร่วมกันได้ตลอด จึงเกิดการร่วมมือกันจดทะเบียนเป็นสมาคมแรงงานนอกระบบ มีภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกทม. แต่ละภาคก็มีคณะกรรมการ และประธานของแต่ละภาคอยู่แล้ว เลยให้กรรมการของแต่ละภาคมาทำงานในระดับสมาคม เราก็เลยได้เข้ามาอยู่ในสมาคมตั้งแต่ตอนนั้น จนถึงปัจจุบันได้เป็นนายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ

ปัญหาอุปสรรคที่ต้องเจอ จากคนทำงานกลายมาเป็นผู้นำ

ช่วงแรกก็คิดหนักว่าจะทำได้หรือเปล่า “ความรู้ก็มีแค่นี้ จบชั้นประถม แต่เราก็ต้องทำ ไม่เคยท้อ มีแต่คิดว่าจะทำได้ไหม” ก็เลยลองดูว่า ทำได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นแต่เราทำสุดความสามารถ สิ่งที่เราไม่เคยทำเราต้องทำให้ได้ เพื่อพี่น้องของเรา เพื่อสมาชิกของเรา เขาเชื่อใจเรา เราก็ทำให้เขาเชื่อมั่นในตัวเรา เพราะว่าเราดูจากพี่น้องในชุมชนที่ฝากความหวังไว้กับเรา ได้เรียนรู้อะไรมาก็มาเล่าสู่กันฟังกระจายความรู้ต่อกัน

การเป็นผู้นำที่เป็นผู้หญิง มีปัญหาหรือเจอผลกระทบอะไรไหม

ก็จะมีปัญหาแค่ภายในครอบครัวของเรา ว่าสามีเราจะยอมให้เราออกนอกบ้านไหม ช่วงแรกๆก็มีปัญหาเหมือนกัน แต่สามีก็เข้าใจนะว่าเราไปทำงานเพื่ออะไร ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหามากเท่าไหร่ ตอนนี้ประเทศไทยพัฒนาแล้ว สังคมยอมรับการทำงานของผู้หญิง เพราะว่าเราทำให้เห็นว่า “ทำได้ไม่ต่างกับผู้ชาย ดีไม่ดีบางงานทำได้ดีกว่าผู้ชายด้วย แค่ลองดูผู้นำในชุมชนเดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้หญิงแทบทั้งนั้น”

คณะกรรมการ HomeNet South-East Asia

HomeNet South-East Asia ก็คือการรวมตัวกันของHomeNetประเทศอื่นๆที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศอื่นเขาก็มีแรงงานนอกระบบเหมือนกันกับเรา มีหลากหลายอาชีพเหมือนกัน ปัญหาก็ไม่ได้ต่างกัน ที่เราได้เป็นหนึ่งในกรรมการก็คิดว่า เราเป็นกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน เห็นตัวตนที่ชัดเจน เวลายกตัวอย่าง หรือพูดถึงปัญหาก็ทำให้เห็นได้ชัดขึ้น และก็เจอปัญหาที่หลากหลาย อาจจะเป็นเพราะสิ่งเหล่านี้ถึงถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของ HNSEA

แรงผลักดันในการทำงาน

เรามีประสบการณ์ มีเพื่อนสมาชิกคอยให้กำลังใจ มีเครือข่ายคอยช่วยเหลือ คิดว่าเราจะทำให้ดีที่สุดที่ตัวเราสามารถทำได้ ตอบแทนความไว้ใจที่เพื่อนสมาชิกเลือกเราให้ดีที่สุด จากที่ไม่มั่นใจในคุณสมบัติของตัวเอง จบแค่ชั้นประถม ไม่กล้าแสดงออก ก็ได้พัฒนาตัวเองทั้งเรื่องความรู้ เรื่องภาษา และเทคโนโลยี จนทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น อีกทั้งยังมีเครือข่ายและเพื่อนสมาชิกที่คอยให้กำลังใจและให้คำปรึกษาจนสามารถก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านั้นจนขึ้นมาเป็นผู้นำอย่างที่ตัวเองคาดหวังไว้ได้

เวลาคนบอกว่า “จะทำไปทำไม” เขาไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ เราไม่เคยท้อ เราเห็นคนที่มีปัญหาแล้วมาหาเรา เราก็จะให้คำแนะนำให้ความช่วยเหลือ แต่ก็คิดตลอดว่าเวลาเขาเดือดร้อนหรือเจอปัญหา เราจะทำยังไง เราจะช่วยเขายังไงให้เขาได้ค่าแรงที่มากกว่านี้ ทำยังไงเขาถึงจะมีสุขภาพที่ดี เราคิดแบบนี้ก็เลยมีแรงที่จะทำงาน มีแรงที่จะผลักดันทำเพื่อเขาต่อไป ถ้าชีวิตเขาดีขึ้นเราเองก็มีความสุข

นุชนภา บำรุงนา เป็นนายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และกรรมการHomeNet South-East Asia