ข้อเสนอนโยบายแรงงานนอกระบบ เลือกตั้ง 2566

จากการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2565 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เกินครึ่งหนึ่งของผู้มีงานทำในประเทศไทย เป็นแรงงานนอกระบบจำนวน 20.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของผู้มีงานทำ ซึ่งประกอบด้วยแรงงานในภาคเกษตรกรรม ภาคบริการและการค้า และภาคการผลิต โดยแรงงานนอกระบบจำนวน 5.8 ล้านคน ต้องประสบปัญหาจากการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องค่าตอบแทน ที่มีค่าจ้างเฉลี่ยเพียง 7,539 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ หลายคนทำงานหนัก งานขาดความต่อเนื่อง และไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน อีกทั้งสภาพแวดล้อมในการทำงาน ฝุ่น ละออง ควัน กลิ่น และแสงสว่างไม่เพียงพอนั้นส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ขณะเดียวกันแรงงานนอกระบบได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศหลายล้านบาท แต่แรงงานเหล่านี้กลับเข้าไม่ถึงการคุ้มครองทางสังคม สิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับกลุ่มอาชีพ 

เพื่อให้แรงงานนอกระบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงสวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคมสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ จึงขอเสนอแนะนโยบายแรงงานนอกระบบ ดังต่อไปนี้ 

ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

  1. ให้มีมาตรการและนโยบายในการลดค่าครองชีพของประชาชน โดยการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ราคาพลังงานและราคาค่าขนส่งสาธารณะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานนอกระบบ
  2. จัดตั้งกองทุนเพื่อการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ สำหรับการกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำ ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ ลดเงื่อนไขให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงการฝึกอบรมอาชีพที่สอดคล้องกับกลุ่มอาชีพ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและข้อจำกัดด้านอายุ

ความมั่นคงทางอาชีพ

  1. กำหนดโควตาการจัดซื้อจัดจ้าง และมาตรการพิเศษอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐมีการจ้างงาน จากผู้ผลิตขนาดเล็ก และกลุ่มสตรีผู้ผลิต เป็นต้น
  2. กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยลดเงื่อนไข หรือข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ทำการค้าขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหารริมทาง หาบเร่แผงลอย ตลาดสด ตลาดนัด ถนนคนเดิน ตลาดเขียว และตลาดในหน่วยราชการต่าง ๆ 
  3. สนับสนุนให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง หันมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลด PM 2.5 และจัดหาแหล่งทุนในการซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และให้การสนับสนุนราคาพลังงานที่ต่ำในพื้นที่ ที่ไม่สามารถใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้

การประกันสังคม

  1. ขยายการประกันสังคมแบบถ้วนหน้า ภาคบังคับสำหรับคนทำงานทุกคน โดยระหว่างการดำเนินการนี้
    ให้ขยายการคุ้มครองประกันสังคมมาตรา 33 ให้ครอบคลุมลูกจ้างทำงานบ้าน และเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 อาทิ ขยายเวลารับสิทธิและเพิ่มจำนวนเงินทดแทนการขาดรายได้  ประกันการว่างงานไม่น้อยกว่า 10 วันต่อเดือน คุ้มครองความเป็นมารดาด้วยการชดเชยการขาดรายได้ให้แม่นอกระบบหลังคลอด 90 วัน และดำเนินการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมโดยเร็วที่สุด

สวัสดิการสังคม

  1. กำหนดให้มีนโยบายการตรวจสุขภาพประจำปี ๆ ละครั้งของกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยง 
  2. ขยายกองทุนอุดหนุนเด็กเล็กให้ครอบคลุมถ้วนหน้า รวมทั้งจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กที่มีบริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแรงงานในทุกชุมชนและปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น

การมีส่วนร่วม

  1. ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มและการมีตัวแทนของแรงงานนอกระบบในคณะกรรมการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ในอัตราส่วนที่เหมาะสมและครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ และจัดให้มีการลงทะเบียนแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาต่อไป
  2. ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ดังนี้
    • อนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง
    • อนุสัญญาฉบับที่ 177 ว่าด้วยเรื่องการรับงานไปทำที่บ้าน 
    • อนุสัญญาฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา
    • อนุสัญญาฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน 

การบริหารจัดการ

  1. จัดตั้งกองทุนเพื่อรองรับภาวะวิกฤตอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคระบาด
  2. ปราบปราม ผู้มีอิทธิพล หรือผู้ที่เรียกรับผลประโยชน์จากการประกอบอาชีพอันสุจริตของแรงงานนอกระบบ