การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการตลาดออนไลน์ของกล้วยอบม้วนโสมจันทร์

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโสมจันทร์ ต. สระยายโสม อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 โดยนางสาว สุภัสศรณ์ พงษ์พานิช ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหญิงในขณะนั้น ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มสตรีแม่บ้านชุมชนสระยายโสม อำเภออู่ทอง จ. สุพรรณบุรี ที่ว่างจากการทำไร่ทำนา ให้มารวมกลุ่มกันประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว มีสมาชิกเริ่มแรกจำนวน 48 คน มีการคัดเลือกคณะกรรมการ และระดมทุนหุ้นจากสมาชิกเพื่อใช้ในการลงทุน

กลุ่มผลิตสินค้า จากวัตถุดิบที่หาได้ง่ายและมีมากในท้องถิ่น คือ กล้วยน้ำว้า โดยในช่วงแรกกลุ่มจะแปรรูปกล้วยเป็นกล้วยกวนและกล้วยแก้วหลากรส  ต่อมาสมาชิกเห็นว่าขนมกวนมีการทำกันมากในหลายพื้นที่ จึงคิดหาสินค้าใหม่ที่มีความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม คือ “กล้วยอบม้วน”  การอบกล้วย เป็นวิธีการผลิตที่รวดเร็วไม่ต้องขึ้นกับ สภาพภูมิอากาศ เหมือนกล้วยตากทั่วไป และสามารถควบคุมเรื่องความสะอาดให้ถูกหลักอนามัยได้ง่าย ในปี 2545 กลุ่มฯได้ส่งกล้วยอบม้วนเข้าประกวดผลิตภัณฑ์ชุมชนหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) ได้รับรางวัล 5 ดาว ทำให้ชื่อเสียงของกลุ่มเป็นที่รู้จักของคนในท้องถิ่นและคนทั่วไป ซึ่งต่อมาสินค้าของกลุ่มฯก็ได้รับมาตรฐานและรางวัลต่างๆอีกหลายครั้งจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ในปี 2545 นั้นเอง  HomeNeet Thailand ได้เข้าไปศึกษาวิจัยเรื่องปัญหาสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานนอกระบบ กับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสระยายโสม และร่วมทำกิจกรรมการดูแลสุขภาพความปลอดภัยของสมาชิกในกลุ่ม เช่น ให้ความรู้เรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (OSH) และออกแบบจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย และมีมาตรฐาน รวมทั้งให้การพัฒนาต่อยอดการประกอบอาชีพของกลุ่มฯ เช่น การสร้างจุดเด่นของสินค้า โดยคงความใหม่สด หอม อร่อย สะอาด ปราศจากการแต่งสี กลิ่น และวัตถุกันเสีย รวมทั้งส่งเสริมให้กลุ่มพัฒนาสินค้าจนได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย. ทำให้สินค้าของกลุ่มฯเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น และมีสมาชิกกลุ่มเพิ่มตามมาด้วย

ที่ผ่านมากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโสมจันทร์ ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทักษะการผลิตของกลุ่มคงที่ ผลิตสินค้าได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค แต่กลับพบว่า ในช่วงเวลา 4-5 ปี ก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สินค้าที่กลุ่มผลิตยังมีรูปแบบเดิม ๆ ขายราคาเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ยอดขายสินค้าของกลุ่มฯ คงที่และเริ่มลดลงต่อเนื่องในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้รายได้ที่สมาชิกได้รับไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สมาชิกกลุ่มจึงลดจำนวนลง

กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด- 19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจของกลุ่ม การค้าขายหยุดชะงักเป็นช่วงเวลานาน รูปแบบการดำเนินชีวิตของคนเปลี่ยนไป สินค้าไม่สามารถขายได้ด้วยวิธีการแบบเดิม ๆ ทำให้สมาชิกไม่มีรายได้ และกลุ่มฯก็ไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ จึงเกิดคำถามว่า “ทำไมลูกค้าเก่าไม่สั่งซื้อสินค้าของกลุ่ม และลูกค้าใหม่ ก็ไม่มีมา”

ทาง HomeNet Thailand จึงได้เข้าไปช่วยเหลือ โดยการจัดอบรมวิเคราะห์ปัญหาและสร้างโมเดลธุรกิจในรูปแบบของ Business Model Canvas ในปี 2564 ทำให้สมาชิก เห็นปัญหาทางการตลาด และเห็นข้อจำกัดของสินค้า เช่น การคิดราคาต้นทุนกับราคาขายไม่สมดุลกันทำให้ขายได้กำไรน้อยเกินไป ขาดการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเดิม  และขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงเข้าไม่ถึงการตลาดออนไลน์  เป็นต้น สมาชิกกลุ่มเดิมจึงได้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่จากชุมชน ได้เข้ามาเรียนรู้ และเป็นสมาชิกมากขึ้น จึงเกิดการทำงานร่วมกันของคน 2 วัย คนรุ่นใหม่คิดไว ทำเร็ว คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์การผลิตและการตลาดมายาวนาน แต่ค่อนข้างระวังตัวและไม่กล้าเสี่ยงกับสิ่งใหม่ ๆ  เมื่อมารวมกันจึงเกิดการปรับทัศนคติ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน

ในปี 2564 ที่ผ่านมากลุ่มฯได้พัฒนาสินค้าใหม่ขึ้น 3 ชนิดคือ กล้วยธัญพืช กล้วยกัญ (ผสมกัญชา) 

กล้วยคลุกงา ระหว่างทดลองตลาดนั้นกล้วยคลุกงา สามารถทำตลาดได้ดี มีออเดอร์ต่อเนื่อง กล้วยกัญนั้นได้แรงงเสริมว่าเป็นยาสมุนไพร ทำให้มาแรงยอดขายค่อนข้างดี แต่ติดปัญหาเรื่องใบอนุญาตใช้กัญชา สุดท้ายกลุ่มจึงต้องตัดสินใจเลิกผลิต  สำหรับกล้วยธัญพืชยังมีปัญหาเรื่องการเก็บรักษายาก ลูกค้ามักจะบ่นว่าราคาแพง กลุ่มจึงต้องคิดค้นหาวิธีปรับปรุงต่อไป หลังจากได้สินค้าใหม่แล้ว กลุ่มเริ่มมาคิดออกแบบหีบห่อให้ทันสมัย สวยงาม ตั้งแต่การออกแบบโลโก้ และบรรจุภัณฑ์ โดยหาซองใส่  เพิ่มขวด และปรับขนาดกล่องให้หลากหลาย ความยากของการปรับหีบห่อ คือ จะทำอย่างไรให้ลูกค้าจำสินค้าของกลุ่มฯได้ สินค้าต้องเก็บรักษาได้ระยะเวลาเท่าเดิม เมื่อขนส่งก็จะไม่เสียหาย กลุ่มฯได้ใช้เวลานานพอสมควรจนสามารถพัฒนาหีบห่อที่ทุกคนพอใจ สวยงาม น่าซื้อ และสามารถรักษาคุณภาพของสินค้าตามที่ต้องการได้

เมื่อได้สินค้าที่ดี และหีบห่อที่ต้องการ กลุ่มฯ จึงมาเพิ่มช่องทางการตลาด โดยการเปิดเพจ facebook เปิดร้านค้าใน Shopee และ Line Application  HomeNet Thailand จัดอบรมการทำตลาดออนไลน์ ให้ฝึกปฎิบัติ ติดตามผลการขาย  และให้คำปรึกษาแนะนำ โดยให้ลูกหลานสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ช่วยดูแลช่องทางการขายเหล่านี้  ในปัจจุบันช่องทางตลาดออนไลน์ที่กลุ่มฯสามารถทำต่อเนื่อง คือ เพจ facebook และ LineApplication เพราะสามารถทำได้ง่ายไม่มีเงื่อนไขซับซ้อน ส่วนร้านค้าใน Shopee มีปัญหาเรื่องราคาขายสินค้า ที่ต้องบวกเพิ่มขึ้นเพื่อหักส่วนต่างให้เพจ และการรับเงินค่าสินค้าซึ่งใช้เวลานาน ส่งผลต่อเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่ม รวมทั้งต้องมีการจ่ายค่าโฆษณา จึงจะได้รับการโปรโมทในหน้าแรกๆของร้าน ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนของสินค้าของกลุ่มขึ้นมาอีก

จากข้อมูลการวิเคราะห์ต้นทุนที่ HomeNet Thailand ได้ร่วมคิดกับกลุ่ม ทำให้กลุ่มต้องปรับราคาสินค้าทุกชนิด เพิ่มอีก20%  จากที่เคยขายราคาเดิมมากว่า 20 ปี การพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ และการเพิ่มรูปแบบและขนาดบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ช่วยทำให้กลุ่มฯ สามารถปรับราคาสินค้าได้โดยลูกค้าไม่รู้สึกว่าของแพงเกินไป  ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ กลุ่มจึงจัดโปรโมชั่นหลากหลายรูปแบบในการกระตุ้นยอดขาย ทั้งการสะสมยอดซื้อแล้วนำมาเป็นส่วนลด การแถมสินค้าใหม่ให้ลูกค้าได้ลองชิม  รวมทั้งการมีสินค้าใหม่ มีหีบห่อใหม่ สวยงาม หลากหลายรูปแบบขึ้น ปรากฏว่ายอดขายเทศกาลปีใหม่ในปี 2565 เพิ่มขึ้นถึง 70% และเพิ่มเป็น 100% ในปี 2566 ประธานกลุ่มได้เล่าให้ฟังว่า  “เมื่อต้นปี2566 เราทำงานกันหนักมาก ต้องเรียกสมาชิกมาทำเพิ่มอีกวันละ 3-4 คน ต้องทำโอทีกันตลอดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน สมาชิกพี่ดีใจมากๆ

สำหรับความท้าทายในอนาคตนั้นกลุ่มฯ มีความกังวลด้านกำลังการผลิต เพราะถึงแม้ว่ากลุ่มจะมีสมาชิกที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญสูง แต่ก็มีอายุมากขึ้นทุกคน กลุ่มฯ ต้องทำแผนในการจัดหาแรงงานทดแทนรวมทั้งถ่ายทอดทักษะการผลิตให้ 

ด้านการตลาด กลุ่มฯ ต้องการพัฒนาให้การขายระบบออนไลน์ เป็นตลาดสำคัญต่อเนื่อง และจะเพิ่มการขายผ่านทาง Instagram กลุ่มวางแผนเพื่อเพิ่มยอดขายจากการจัดโปรโมชั่นปีละ 3-4 ครั้ง ในเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่  สงกรานต์ งานเกษียณอายุราชการ รวมทั้งการพัฒนาสินค้าชนิดใหม่ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เช่นกล้วยน้ำตาลน้อยเพื่อขายในกลุ่มคนรักสุขภาพ  รวมทั้งผลิตกล้วยแปรรูปเคลือบช็อคโกแลต สตอเบอร์รี หรือชาเขียว เพื่อขยายตลาดไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโสมจันทร์ เริ่มต้นและดำเนินงานสืบเนื่องมาโดยเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วม และได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม มีคณะกรรมการกลุ่มคอยกำกับการดำเนินงาน สมาชิกร่วมระดมทุนโดยการลงหุ้น และมีการปันผลกำไรให้สมาชิกแทบทุกปี นอกจากนั้นยังจัดสรรผลกำไรบางส่วนไปช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบปัญหาภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม หรือฝนแล้ง รวมทั้งแบ่งปันสินค้าหรือผลกำไรไปช่วยเหลือกิจกรรมของชุมชนใน วันผู้สูงอายุ วันเด็ก และปีใหม่ทุก ๆ ปี 

สินค้าของกลุ่มใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น โดยกลุ่มฯ จะแจกกล้วยพันธ์ดีเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปปลูกและรับซื้อผลผลิตเพื่อนำมาผลิตสินค้าในกลุ่ม  ทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และเกษตรกรในตำบล เปลือกกล้วยที่เหลือจากการผลิตสินค้าจะถูกนำไปแจกให้เกษตรกรที่เลี้ยงวัวเพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ และลดขยะในชุมชนอีกด้วย 

การดำเนินงานของกลุ่มช่วยให้สมาชิกผู้ทำการผลิตที่บ้าน มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว มีสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นรูปแบบของเศรษฐกิจที่เกื้อกูล และแบ่งปันระหว่างสมาชิกภายในกลุ่มซึ่งเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน กับผู้ซื้อที่ได้บริโภคสินค้ามีคุณภาพ สะอาด ถูกหลักอนามัย ผู้ผลิตวัตถุดิบ เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว และคนในชุมชนที่ต่างก็ได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานของกลุ่ม หรือที่เรียกว่าเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (Social Solidarity Economy)

กนกนาถ เทพนุภา
HomeNet Thailand
เมษายน 2566