การพัฒนาทักษะฝีมือการผลิต หรือการจัดการธุรกิจเพื่อต่อยอดงานเดิม (Upskill) กลุ่มปลาหวานเพชรสมุทร ตำบลบ้านเลือก อ. โพธาราม จ. ราชบุรี

เมื่อประมาณ 30 กว่าปี ที่ผ่านมาการทำปลาหวานเป็นอาชีพของครอบครัวหนึ่งมีคนทำงานประมาณ 5-6 คน ซึ่งต่อมากิจการของครอบครัวได้เติบโตขึ้น ครอบครัวนี้จึงได้ขยายกิจการโดยการชักชวนคนในชุมชนหมู่ 9 ต. บ้านเลือก อ. โพธาราม จ. ราชบุรี มาทำงานร่วมกัน  เป็นกลุ่มชื่อว่า  กลุ่มปลาหวานเพชรสมุทร มีลักษณะเป็นการประกอบการแบบธุรกิจรายย่อยและแบบกลุ่มผสมกัน กล่าวคือมีการจ่ายค่าแรงคนทำงานตามผลงาน แต่ก็มีการทำงานที่ปรึกษาหารือ ให้ข้อมูลด้านสวัสดิการและมีช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในกลุ่ม ปัจจุบันในปี 2565 กลุ่มฯ มีสมาชิกทำงานร่วมกันประมาณ 60 คน โดยมีคนทำงานที่บ้านส่วนกลางประมาณ 10 คนและจ่ายงานไปทำตามบ้านให้สมาชิกอีก ประมาณ 50 คน งานที่จ่ายไปตามบ้านมีสองงาน คืองานล้างไม้เสียบปลาหวาน และงานเสียบปลาหวานใส่ไม้  

สินค้าของกลุ่มปลาหวานเพชรสมุทร เริ่มต้นขายจากราคากิโลกรัมละ 35 บาทจนปัจจุบันราคากิโลกรัมละ 90 บาท ตลาดที่สำคัญของกลุ่มคือ  ตลาดมหาชัยค้าส่ง ตลาดของฝากชลบุรี ตลาดจังหวัดร้อยเอ็ด  การทำธุรกิจนี้ในช่วงแรกคู่แข่งน้อยคือประมาณ 3 ร้าน แต่ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 14-15 ร้าน จึงมีการลดราคา และตัดราคากันเอง เพื่อให้สามารถแข่งขันกันในตลาดได้ สำหรับกลุ่มปลาหวานเพชรสมุทรนั้นเน้นจุดขายที่แตกต่าง โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพที่ดี  สด ใหม่ ผสมเนื้อปลาเยอะ แป้งน้อย และรสชาติคงที่ เพื่อให้สามารถต่อรองกับลูกค้าและกำหนดราคาขายได้

         HomeNet Thailand เริ่มต้นทำงานกับกลุ่มปลาหวานเพชรสมุทรเมื่อปี 2552 ผ่านการทำกิจกรรมของโครงการ อาสาสมัครเยาวชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานนอกระบบ  โดยเข้ามาให้ความรู้กับเยาวชนลูกหลานของผู้รับงานไปทำที่บ้านให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน และผลกระทบจากกระบวนการผลิตที่อาจเกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อมของชุมชน  เมื่อได้รับความรู้แล้วเยาวชนเหล่านี้จะกลับไปดำเนินการร่วมกับผู้ปกครองซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มฯ ในเรื่องการดูแลสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานและสิ่งแวดล้อมแวดล้อมของชุมชน เมื่อหัวหน้าและสมาชิกกลุ่มฯได้รับรู้เรื่องการดูและสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเข้าใจประเด็นแรงงานนอกระบบมากขึ้น จึงตระหนักว่าเรื่องแรงงานนอกระบบนั้นเกี่ยวข้องกับตนเอง และการเข้าร่วมกับเครือข่ายของ Homenet Thailand จะเกิดประโยชน์ต่อไป ทางกลุ่มปลาหวานเพชรสมุทร จึงสมัครเป็นสมาชิกของ Homenet Thailand และร่วมทำกิจกรรมต่อเนื่อง จนกระทั่งได้รับเลือกเป็นเป็นคณะกรรมการเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคกลางอีกด้วย

         ในสถานการณ์ โควิด 19 ที่ผ่านมากลุ่มประสบปัญหาการประกอบอาชีพอย่างหนัก บางช่วงต้องหยุดการผลิต ไม่สามารถขนส่งวัตถุดิบ และสินค้า ได้เลย หัวหน้ากลุ่มต้องนำรถยนต์ส่วนตัว ไปขาย 2 คัน นำที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้ธนาคาร 6 แสนบาท เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว ช่วยเหลือค่าครองชีพสมาชิก และดูแลสมาชิกที่เจ็บป่วย  “โชคดีที่เรารณรงค์ เรื่องการทำประกันสังคมกับโฮมเนทสมาชิกพี่ทำประกันสังคมมาตรา 40 ทุกคน ได้รับทั้งเงินเยียวยา และเงินชดเชยเจ็บป่วย พอได้มีข้าวกินกันแต่ละครอบครัว” หัวหน้ากลุ่มกล่าว

ที่ผ่านมา Homenet Thailand ทำงานศึกษาขั้นตอนการผลิตของกลุ่มเพื่อนำมาวิเคราะห์และให้ความรู้เรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งให้ความรู้เรื่อง สิทธิและสวัสดิการแรงงาน แต่ไม่ได้เข้าไปพัฒนาเกี่ยวกับการทำธุรกิจของกลุ่มฯเพราะเห็นว่าพวกเขาสามารถดำเนินธุรกิจของตนเองไปได้ด้วยดี จนกระทั่งในช่วงสถานการณ์โควิด 19 การล๊อคดาวน์ ทำให้กลุ่มไม่มีรายได้ สมาชิกเจ็บป่วยไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาล และกลุ่มฯก็ไม่มีเงินสำรองมาช่วย  จึงได้มานั่งวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันและพบว่าการบริหารจัดการธุรกิจของกลุ่มเป็นแบบครอบครัวทำกันเองเมื่อหัวหน้ากลุ่มฯมีปัญหาสมาชิกที่เหลือก็เดินต่อไปไม่ได้ทั้งหมด จึงได้เริ่มวางแผนการทำงานกันใหม่ 

จากกระบวนการอบรมการทำ Business Model Canvas ที่ช่วยให้หัวหน้ากลุ่มฯและสมาชิกมีการการวิเคราะห์การประกอบการของกลุ่มฯและพบว่าการบริหารจัดการของกลุ่มฯเป็นแบบง่าย ๆ ไม่มีระบบทั้งการเงิน บัญชี ต้นทุน สต๊อกสินค้า แม้กระทั่งข้อมูลลูกค้า ส่วนใหญ่ก็ยังใช้การจำ มีการจดบันทึกบ้างเล็กๆน้อยๆ  การตลาดก็ทำโดยอาศัยประสบการณ์ของหัวหน้ากลุ่ม ขาดการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปข้างหน้า

ในขณะเดียวกันการพัฒนาทักษะฝีมือของกลุ่มฯนั้นใช้การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง พัฒนาจากประสบการณ์ที่เคยทำ ๆ กันมา ไม่มีการบันทึกหรือรวบรวมข้อมูลการผลิตไว้เลย การผลิตปลาหวานมีเทคนิคหลายอย่างเช่น การดูสีของเนื้อปลา ความหนา-บางของแผ่นปลา การทอด ระดับไฟ การผสมน้ำจิ้มข้น หรือใส เหมาะกับปลาชนิดใด ปลาตากแห้งมากหรือแห้งน้อยจะมีวิธีการผลิตที่แตกต่างกันทั้งสิ้น  การไม่มีการจดบันทึก และถ่ายทอดกันทำให้ภาระหนักอยู่ที่หัวหน้ากลุ่มและสมาชิกรุ่นแรกที่มีประสบการณ์ต้องลงมือทำการผลิตเอง   หัวหน้ากลุ่มฯไม่มีเวลามาดูภาพรวมการประกอบการของกลุ่มขาดการพัฒนาสินค้า หรือทักษะด้านอื่นๆ เพราะต้องอยู่ควบคุมคุณภาพการผลิตตลอดเวลา 

มาตรฐานสินค้าเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่กลุ่มฯต้องพัฒนา กลุ่มได้คำแนะนำจาก HomeNet Thailand และคณะที่ปรึกษาให้ดำเนินการขอ อย. กลุ่มได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 แต่ผลการตรวจประเมินมาตรฐาน อย. ของกลุ่มไม่ผ่านเพราะสถานที่ผลิตสินค้าไม่ได้แยกระหว่างสถานประกอบการกับบ้านออกจากกัน ข้อจำกัดของผู้ทำการผลิตที่บ้านนั้นก็คือการใช้บ้านเป็นที่ทำงาน พวกเขาไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะไปหาที่ดินมาปลูกสร้างอาคารเพื่อผลิตสินค้าจึงไม่ผ่านการขอมาตรฐานจากอย.

จากข้อจำกัดของกลุ่มฯในการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา HomeNet Thailand ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา (2564-2565) จึงได้เข้าไปช่วยปรับปรุงและพัฒนา โดยเริ่มจากการหาผู้ที่มีความรู้ในชุมชน มาเป็นจิตอาสาช่วยสอนตัวแทนกลุ่ม 2 คนให้สามารถทำเอกสารการเงิน บัญชี สต๊อกสินค้า บันทึกการสั่งซื้อวัตถุดิบ ต้นทุน กำไร โดยใช้รูปแบบที่ง่ายที่สุด ไม่ซับซ้อน บางเรื่องเป็นด้านเทคนิคมากๆก็ใช้วิธีจ้างคนที่เชี่ยวชาญมาทำให้  เช่นบัญชี การเงิน  ซึ่งพบว่าช่วงเริ่มต้นในการปรับปรุงการทำงานนั้นค่อนข้างยาก เพราะต้องเปลี่ยนความเคยชินแบบสบาย ๆ เป็นภาระงานที่ต้องทำทุกวัน ในช่วงแรกๆ มีการทำบ้างไม่ทำบ้างต้องมีการตรวจสอบกันบ่อยๆ  ช่วงต้นปี 2566 พบว่ามีการบันทึกประจำ อาจจะยังไม่ละเอียด แต่สามารถบอกได้ว่างานแต่ละออร์เดอร์มีกำไรเท่าไหร่ หรือรับงานมาเสี่ยงที่จะขาดทุนหรือไม่ การวางแผนการจัดซื้อวัตถุดิบก็ดีขึ้น ได้เนื้อปลาที่มีคุณภาพแม้จะเป็นช่วงหน้าฝนที่ปลามักจะมีปัญหาการตากไม่แห้งและสีไม่สวย  จนหัวหน้ากลุ่มบอกกับทีม HomNet ว่า สามารถวางแผนการสั่งวัตถุดิบได้ดี แนวโน้มในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายสูงขึ้นและได้กำไรเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 50%” 

ในแง่การพัฒนาทักษะฝีมือ มีการทำ Workshop สอนเทคนิคการผลิตให้สมาชิกแต่ละแผนก บันทึกขั้นตอนและข้อสังเกต ข้อควรระวัง ปัญหาที่พบไว้ให้ศึกษาทบทวน ซึ่งต่อไปจะต้องมีการสรุปทบทวนกันเป็นระยะๆ เพื่อให้สมาชิกเกิดความมั่นใจและสามารถรับผิดชอบงานได้จริง ต้นปี 2566 มีสมาชิก 2-3 คนมีความรู้ความเข้าใจดีขึ้นจนสามารถทำการผลิตได้ด้วยตนเอง  

ปัญหาที่กลุ่มจะต้องก้าวข้ามในอนาคต คือการสร้างอำนาจต่อรองกับลูกค้า ด้วยคุณภาพของสินค้าไม่ใช่ราคา ปัจจุบันพบว่าผู้ผลิตปลาหวานในพื้นที่มีมากกว่า 15 ราย  ที่ขายสินค้าตัดราคากันเอง  “กลุ่มเราจะต้องพัฒนาตัวเองไปยังตลาดที่ผู้บริโภคใส่ใจด้านสุขภาพ ความสะอาดปลอดภัย ไม่แข่งขันในตลาดที่ใช้ราคาเป็นตัวตัดสิน เพื่อให้มีผลกำไรที่เหมาะสม สามารถจ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้แก่สมาชิกได้” หัวหน้ากลุ่มกล่าว

ปัจจุบันกลุ่มฯ กำลังรวบรวมเงินทุนเพื่อสร้างโรงเรือนใหม่ เพื่อจัดทำมาตรฐาน อย. ขอฮาลาน ให้สินค้า จากนั้นกลุ่มฯจะผลิตปลาหวานส่งขายต่างประเทศ ซึ่งมีช่องทางการตลาดอยู่แล้วเพียงแค่กลุ่มพัฒนาทักษะการผลิตให้มีความละเอียด มีมาตรฐาน ฮาลาน และ อย. รองรับ สินค้าก็จะมีตลาดและทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น

กลุ่มปลาหวานเพชรสมุทรเริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัว จนสามารถสนับสนุนให้คนอื่น ๆ มีอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ให้คนในชุมชนมากกว่า 50 ครัวเรือน และที่สำคัญแรงงานที่ร่วมทำงานกับกลุ่มมากว่า 30 ปีนั้นร้อยละ80 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งกลุ่มฯช่วยให้เขามีงานมีรายได้เลี้ยงดูตนเองเพิ่มขึ้นจากเงินสวัสดิการที่ได้จากภาครัฐ ช่วยให้แรงงานผู้สูงอายุเหล่านี้ มีความภูมิใจ รู้สึกมีคุณค่า และมีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับแรงงานในช่วงอายุอื่น ๆ 

กลุ่มฯเป็นตัวอย่างที่ดีในการช่วยเหลือกันระหว่าง MSME กับผู้รับงานไปทำที่บ้าน โดยจะมีการการต่อรองราคาค่าแรงระหว่างหัวหน้ากลุ่มฯ กับคนรับงานไปทำที่บ้านตามภาวะเศรษฐกิจอยู่เสมอ หัวหน้ากลุ่มฯจะเน้นย้ำให้สมาชิกทุกคนสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมมาตรา 40 เพื่อจะได้รับสวัสดิการจากภาครัฐเมื่อมีความเสี่ยงเกิดขึ้น เป็นการส่งเสริมให้ลูกจ้างเข้าถึงสวัสดิการสังคมที่ภาครัฐจัดให้ นอกจากนั้นหัวหน้ากลุ่มฯก็จะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลสมาชิกเมื่อเดือดร้อนตามกำลังที่มี นับเป็นการสร้าเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (Social Solidarity Economy) ให้เกิดขึ้นในสังคมรูปแบบหนึ่ง

กนกนาถ เทพนุภา
HomeNet Thailand
19 เมษายน 2566