การสนับสนุนจากองค์กรปกครองท้องถิ่น กลุ่มบ่อยางปาเต๊ะ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

กลุ่มบ่อยางปาเต๊ะเกิดจากการผลักดันของเทศบาลนครสงขลาในปี 2556 ให้ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 45-60 ปี ของชุมชนบ่อยาง ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งในเขตเทศบาลสงขลา มารวมตัวกันเพื่อรับการฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านอาชีพ เพื่อนำไปสร้างงาน สร้างรายได้ ช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวต่อไป โดยในช่วงต้นเทศบาลนครสงขลา ได้จัดวิทยากรจาก  วิทยาลัยการอาชีพนาทวีมาสอนการเพ้นท์ลายเพื่อทำผ้า  บาติกและการปักลูกปัดบนผืนผ้า มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 45 คน ผู้ที่ผ่านการอบรมได้กลับไปสร้างผลงานของตนเองโดยแยกกันผลิตและแยกกันจำหน่าย ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงจำนวนมากประกอบกับการได้รับการส่งเสริมจากเทศบาลจึงทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง

ในปี 2559-2560 ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก และผ้าของกลุ่มขายยากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีราคาสูง และเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะใช้ในโอกาสพิเศษ จึงไม่ค่อยมีการซื้อซ้ำ ทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้ไม่ต่อเนื่อง HomeNet Thailand ได้เข้าไปสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวเพื่อปรึกษาหารือกันของสมาชิกในกลุ่ม โดย มีสมาชิก จำนวน 20 คน จบการศึกษาชั้น ป.6 ถึง อาชีวศึกษาได้มาร่วมประชุมเพื่อหาทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ประชุมมีมติที่จะเปลี่ยนการผลิตสินค้าจากการผลิตผ้ารารคาสูงมาเป็นการผลิตผ้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ทำให้ราคาจำหน่ายไม่สูง ลูกค้าจะได้มีกำลังซื้อต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มฯจะสามารถขายและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง   จากการประสานงานของทางเทศบาลและ HomeNet Thailand กลุ่มฯจึงได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชนของจังหวัดสงขลาในการฝึกอบรมการพิมพ์ลายและย้อมสีผ้าปาเต๊ะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย กลุ่มฯจึงเปลี่ยนการทำบาติกเขียนเทียนด้วยมือ และการปักลูกปัดบนผืนผ้ามา มาเป็นผลิตผ้าปาเต๊ะโดยการใช้บล็อกพิมพ์ลายบนผืนผ้าแทน กลุ่มมีการพัฒนาลายผ้าใหม่ ๆมากขึ้น มีการออกแบบสินค้า เป็นของที่ระลึก ของใช้ในบ้าน เช่นที่รองจาน  ที่ตกแต่งกระเป๋า และที่ติดผม  เป็นต้น ทำให้สามารถขายสินค้าในตลาดท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้น จนกระทั่งในปี 2563 กลุ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามรถขายผลผลิตได้ Homenet Thailand ได้เข้าไปสนับสนุนการทำ Business Model Canvas ของกลุ่ม รวมถึง การอบรมเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์

ในช่วงระหว่าง 2563-2565 กลุ่มบ่อยางปาเต๊ะ ยังคงพัฒนาสินค้าของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง สินค้าของกลุ่มจะประกอบด้วย ผ้าซิ่น ผ้าคลุมไหล่ กระโปรง เสื้อ กระเป๋าหน้ากากอนามัย  ลักษณะเด่นของผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม คือเป็นงานทำมือ  ใช้วัสดุดี ประณีต  ละเอียด มีลวดลายและมีสีสัน ที่สวยงาน สะท้อนถึงวิถีชีวิต และเอกลักษณ์ท้องถิ่น  ที่ผู้หญิงภาคใต้ยังคงใช้ผ้าปาเต๊ะในชีวิตประจำวันตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน

กลุ่มบ่อยางปาเต๊ะมีการรวมกลุ่มกันทำงาน มีการสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงาน ร่วมกันผลิต รับผิดชอบในสิ่งที่ดำเนินการ ระดับการมีส่วนร่วมแตกต่างกันไปตามความรับผิดชอบ เช่น การผลิต  การขาย การบริหารจัดการกลุ่ม รวมถึงการมีส่วนร่วมในการแบ่งผลประโยชน์ ค่าแรง   การดูแลสมาชิกยามเจ็บป่วย การเยี่ยมไข้ ดูแลเรื่องอาหารการกินเมื่อมาทำงานร่วมกัน หรือการมีโอกาสร่วมกิจกรรมกับหน่วยงาน เป็นต้น ซึ่งสอดรับกับหลักการของเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ ( Social Solidarity Economy) ซึ่งประธานกลุ่มบอกกับทาง HomeNet Thailand ว่า แรงงานจะต้องเป็นศูนย์กลางของธุรกิจและการพัฒนา มีค่านิยมทางจริยธรรมที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมและยึดหลักประชาธิปไตย

ปัจจุบันกลุ่มบ่อยางปาเต๊ะ ตั้งอยู่ชุมชนแหลมสนอ่อน ในเขตเทศบาลนครสงขลา กลุ่มเป็นที่เรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มผู้หญิง ที่สนใจทำอาชีพเสริม  เป็นที่ศึกษาดูงานของหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ และร่วมไปออกบูธแสดงและจำหน่ายสินค้าในนามของเทศบาลนครสงขลาอยู่เสมอ

ลูกค้าหลักของกลุ่ม เป็นผู้หญิงวัยทำงานที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่ต้องใส่ผ้าไทยผ้าพื้นเมือง ผ้าปาเต๊ะ ตามนโยบายของภาครัฐ หรือต้องการใส่เพื่อสร้างความ ภูมิฐานให้กับตัวเอง    ส่วนกลุ่มลูกค้าที่มีเพิ่มเติมคือคนในชุมชน   และนักท่องเที่ยว 

นอกจากนั้นหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ เช่น  กศน. และร้าน OTOP ของจังหวัดก็นับเป็นพันธมิตรที่ช่วยส่งเสริมการขาย และเป็นลูกค้าที่สำคัญของกลุ่ม เพราะจะช่วยสั่งสินค้าไปใช้ หรือไปจำหน่ายต่อ และเปิดโอกาสให้กลุ่มฯมีพื้นที่จำหน่ายสินค้าหรือเข้าร่วมงานที่ภาครัฐจัดขึ้น ซึ่งกลุ่มจะได้พบปะและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า สามารถเล่าให้ลูกค้าฟังว่ามีผลิตภัณฑ์อะไรที่พัฒนาออกมาใหม่ๆ บ้าง หรือกำลังทำอะไรอยู่บ้าง  นำตัวอย่างสินค้าที่ผลิตแล้วไปพูดคุยนำเสนอ ให้กับลูกค้าได้เห็นบ่อยๆ 

ในขณะที่กลุ่มฯจะมีพันธมิตรที่ช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์  เช่น มหาวิทยาลัยศรีวิชัย ราชมงคลสงขลา  วิทยาลัยอาชีวสงขลา รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ เทศบาลนครสงขลา  กศน.  และ HomeNet Thailand Brand

สำหรับเทศบาลนครสงขลานั้นได้ให้การสนับสนุนกลุ่มบ่อยางปาเต๊ะต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน  กลุ่มบ่อยางปาเต๊ะขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มอาชีพกับกองสวัสดิการสังคมของเทศบาลฯ สมาชิกกลุ่มจะมีโอกาสในการเข้าร่วมในการพัฒนาศักยภาพกลุ่ม และเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ที่เทศบาลจัดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นกลุ่มฯยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาทักษะฝีมือของสมาชิกรวมถึงพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริมให้ไปศึกษาดูงานกลุ่มฯที่ประสบความสำเร็จ และได้รับงบประมาณในการดูแลสุขภาพสมาชิกผ่านกองทุนสุขภาพท้องถิ่น (กองทุน สปสช.) อีกด้วย

ด้านการใช้พื้นที่ ในช่วงต้นกลุ่มได้ใช้พื้นที่อาคารของเทศบาลในการทำกิจกรรมของกลุ่ม ต่อมาพื้นที่คับแคบเกินไปกลุ่มฯจึงได้ย้ายไปที่อื่น แต่เทศบาลก็ให้บริการในเรื่องการใช้ไฟฟ้า  และอำนวยความสะดวกในการใช้สถานที่ห้องประชุมของเทศบาลในการจัดประชุม และอบรมสมาชิกในเรื่องต่าง ๆ คอยประสานงาน อำนวยความสะดวก เชิญชวนกลุ่มฯเข้าร่วมงานกิจกรรมต่างๆของเทศบาล และของจังหวัด  ส่งเสริมให้เป็นกลุ่มต้นแบบให้การเรียนรู้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเยาวชน รวมทั้งบอกกล่าวข้อมูลข่าวสาร จากกองสวัสดิการสังคมของเทศบาลนครสงขลา แก่กลุ่มอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งส่งเสริมสมาชิกกลุ่มฯในการทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจาการเรื่องอาชีพ เช่น กิจกรรมวันสตรีสากล หรือช่วยส่งแกนนำกลุ่มฯไปรับรางวัลคนดีของตำบล  ถึงแม้นจะมีการเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ดูแลแลแต่ความสัมพันธ์ของเทศบาลกับกลุ่มฯก็ยังมีความสม่ำเสมอ และที่สำคัญเทศบาลนครสงขลาเป็นลูกค้าที่สำคัญของกลุ่มฯ เช่นจะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากกลุ่มไปใช้เมื่อเทศบาลจัดกิจกรรมเสมอ ๆ

ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มฯกับเทศบาลคือ กลุ่มฯมีกิจกรรมที่ต่อเนื่องและมีการพัฒนาตลอดเวลา ทำให้เป็นที่รู้จักของเทศบาล และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ  แกนนำและสมาชิกของกลุ่มฯ ได้แสดงให้เห็นว่ามีจิตอาสาในเรื่องอื่น ๆของเทศบาลด้วย ไม่ได้เป็นแค่ผู้รับจากเทศบาล แต่เป็นผู้ให้ในเรื่องอื่น ๆ ที่ทางเทศบาลหรือหน่วยงานภาครัฐขอความร่วมมือมา และที่สำคัญกลุ่มฯมีแผนงานที่ชัดเจนและผลัดดันให้เทศบาล บรรจุแผนของกลุ่มไปในแผนพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาล ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการของบประมาณในการพัฒนากลุ่ม

                                                                                        นางจันทนา  เจริญวิริยะภาพ
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
19 เมษายน 2566