การปรับตัวของกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านฝั่งหมิ่นในช่วงวิกฤตโควิด-19

กลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านฝั่งหมิ่น ตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยาเริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี กุมภาพันธ์ 2560 มีสมาชิก  20 คน ได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพการผลิตกระเป๋าผ้าด้นมือแบบต่าง ๆ จาก Homenet Thailand สินค้าที่กลุ่มฯผลิตและจำหน่าย คือ กระเป๋าเครื่องสำอาง กระเป๋าสะพาย กระเป๋าเป้  โดยมีตลาดทั้งในชุมชน และนอกชุมชน  และได้รับการสนับสนุนให้นำไปจำหน่ายตามงานนิทรรศการต่าง ๆ ที่ทางส่วนราชการได้จัดขึ้น   

ในปี 2562 เกิดวิกฤติสถานการณ์โควิด – 19  ขึ้น  ทำให้ Order ที่เคยมีก็หยุดชะงักลง  รวมทั้งส่วนราชการต่าง ๆ ก็หยุดจัดกิจกรรมไปด้วย ทำให้ไม่มีตลาดไปขายได้  สุดท้ายไม่สามารถผลิตชิ้นงานเพื่อจำหน่ายได้ทุกช่องทาง  ทำให้สมาชิกขาดรายได้ที่จะมาจุนเจือครอบครัว   โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติในขณะนั้น  ปัญหาการรวมกลุ่มและ ปัญหาการแพร่ระบาดของโรค ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทุกคนอยู่ในภาวะตึงเครียด  กรรมการกลุ่มฯจึงได้ปรึกษากับทาง HomeNet Thailand       ถึงแนวทางที่จะสร้างอาชีพมาทดแทนอาชีพเดิมให้กับสมาชิกกลุ่มฯให้มีรายได้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 จึงได้ให้แนวคิดในเรื่องการทำอาหารจำหน่าย เพราะไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรก็ตาม   ทุกคนต้องกินอาหาร สมาชิกกลุ่มฯจึงปรึกษากันว่าจะทำแคบหมูจำหน่าย  เหตุผลที่เลือกการทำแคบหมู เพราะส่วนใหญ่คนภาคเหนือมักจะบริโภคแคบหมูกับน้ำพริก หรือนำไปแปรรูปอาหารต่าง ๆ  รวมทั้งเมื่อสถานการณ์โควิด-19   คลี่คลายลง แคบหมูก็จะสามารถจำหน่าย เป็นของฝากให้กับนักท่องเที่ยวได้ ประกอบกับประธานกลุ่มฯ เป็นแม่ค้าจำหน่ายอาหารที่ตลาดสดตอนเช้า จึงเป็นต้นทุนทางสังคมที่กลุ่มจะทดลองผลิตสินค้าและฝากให้ประธานฯนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นการทดลองตลาดได้เป็นอย่างดี   กลุ่มฯจึงได้จัดอบรมการทำแคบหมูขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานพัฒนาชุมชนดอกคำใต้  ในวันที่   14   เดือน  กรกฎาคม   พ.ศ.  2563  และได้รับการสนุนวัสดุ อุปกรณ์ จาก นายจีระเดช  ศรีวิราช ส.ส.พะเยาเขต 3 เมื่อสมาชิกได้รับความรู้และทักษะในการผลิตจากการอบรมแล้ว มหาวิทยาลัยพะเยา และ  Home Net Thailand  จึงได้สนับสนุนอุปกรณ์และเงินทุนหมุนเวียน เพื่อให้กลุ่มฯสามารถผลิตสินค้าจำหน่ายได้

ในปัจจุบันกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านฝั่งหมิ่น ได้เรียนรู้และพัฒนาสูตรการทำแคบหมูของตนเองจนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ปัจจุบันกลุ่มฯจำหน่ายแคบหมูประจำที่ตลาดสดแม่ต๋ำ  แคบหมูของกลุ่มฯมี 3 ชนิดเรียกว่าเป็นแคบหมู 3 วัย  เหตุที่เรียกเช่นนี้เพื่อง่ายต่อผู้ซื้อว่าต้องการแคบหมูชนิดใด  เช่น แคบหมูกระจก เส้นจะเล็ก เน้นความกรอบ  เหมาะกับวัยรุ่น   แคบหมูขาว เส้นจะขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกนิด เมื่อทอดออกมาจะเป็นสีขาว  ส่วนใหญ่มักนำไปใส่ในแกงต่างๆ  เช่น ใส่แกงหัวปลี และยำต่างๆ จึงเหมาะกับผู้บริโภคทั่วไป อีกชนิดคือแคบหมูที่ใช้วัตถุดิบตรงส่วนมันผสมเนื้อบ้างไม่มีหนัง ไม่แข็ง เหมาะกับผู้สูงอายุ  สามารถทานได้ง่าย    เพื่อให้แคบหมูของกลุ่มฯเป็นที่รู้จักมหาวิทยาลัยพะเยา ได้เข้ามาช่วยออกแบบและจัดทำสติกเกอร์ แคบหมู 3วัย  เพื่อสร้างจุดขาย นำไปติดบนหีบห่อให้สวยงาม น่าซื้อมากขึ้น  กลุ่มฯจำหน่าย  แคบหมูทั้ง 3 ชนิด ทั้งขายส่งและขายปลีก  รวมทั้งรับผลิตจำนวนมากตาม order  ที่ลูกค้าสั่ง ในปี 2565  ทาง HomeNet  Thailand   ได้ช่วยพัฒนาโลโก้กลุ่มฯ เพื่อสร้างแบรนด์ (Brand) แคบหมูกลุ่มอาชีพฝั่งหมิ่นให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โลโก้ได้ถูกนำไปไว้บนสติกเกอร์ติดหีบห่อ  และทำป้ายประชาสัมพันธ์กลุ่มฯ   ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น 

เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน ซึ่งเกิดจากควันที่มาจากการทอด และน้ำเสียจากการล้างหนังหมูที่ไหลลงสู่ชุมชน Homenet Thailand จึงได้ ปรึกษากับกลุ่มฯในการย้ายสถานที่ผลิตใหม่ ให้ไปอยู่ห่างไกลจากชุมชน   โดยได้ย้ายที่ทำการกลุ่มฯจากเดิมที่เคยทำที่วัดพระธาตุโพธิ์งามมาเป็นพื้นที่สวนของประธานกลุ่มฯ    ซึ่งได้แบ่งพื้นที่บางส่วนให้กับกลุ่ม และได้ร่วมกันสร้างอาคารที่ทำการกลุ่มฯขึ้น ในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2565  ที่ทำการใหม่ของกลุ่มฯช่วยให้สมาชิกสามารถผลิตแคบหมูได้สะดวกขึ้น และช่วยลดปัญหามลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนอีกด้วย 

กลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านฝั่งหมิ่น ดำเนินงานโดยยึดหลักของการสร้างเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (SSE Social Solidarity Economy) เน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อสุขภาพ  ในขณะที่กระบวนการผลิตก็คำนึงถึงผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมทั้งกลิ่นจากการทอด  และน้ำเสียจากการล้างหนังหมู  ทางกลุ่มจึงได้ย้ายสถานที่ไปผลิตให้ห่างไกลจากชุมชน  จัดการให้น้ำเสียลงสู่บ่อพักน้ำ เพื่อเป็นการบำบัดในเบื้องต้น

กลุ่มฯ มีการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่แต่การจัดการจัดการกลุ่ม  กระบวนการผลิต รวมทั้งการแบ่งปันผลประโยชน์ให้สมาชิก   โดยจะมีการผลิต แคบหมู3 ครั้งต่อสัปดาห์ เฉลี่ย 12 ครั้งต่อเดือน จะมีการจ่ายค่าแรงในการทำงานเดือนละ 1 ครั้ง หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ และหักเงินสมทบเข้ากลุ่มเดือนละ 300 บาท   สมาชิกจะมีรายได้เฉลี่ยคนละ 2,000 บาทต่อเดือน

เงินที่กลุ่มรวบรวมไว้ทุกเดือนจะเก็บไว้ใช้ในการทำกิจกรรมของสมาชิก  หรือนำไปช่วยเหลือชุมชน เมื่อชุมชนเดือดร้อน  เช่น ที่ผ่านมากลุ่มฯ ได้นำถุงยังชีพไปช่วยเหลือครอบครัวผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ที่ติดโควิด-19 และช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป็นต้น

ความท้าทายในปัจจุบันของกลุ่มฯคือการสร้างกระบวนการผลิตให้ได้คุณภาพ และมาตรฐาน เพราะหนังหมูที่ได้รับมาในแต่ละครั้งนั้นมีคุณภาพไม่แน่นอน ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะหนังหมูแต่ละส่วนนั้น เมื่อทอดออกมาจะมีรสชาติแตกต่างกันตามไปด้วย  กลุ่มฯยังคงต้องพัฒนาทักษะหรือปรับปรุงสินค้าให้ได้มาตรฐานต่อไป  และที่สำคัญแคบหมูเป็นสินค้าประเภทอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้าของกลุ่ม กลุ่มฯจำเป็นจะต้องพัฒนาให้ได้มาตรฐานของ อย. ต่อไป

ความท้าทายอีกประการหนึ่งที่กลุ่มจะต้องเผชิญ คือด้านของ กำลังการผลิตเนื่องเพราะสมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มฯเป็นผู้สูงอายุ  ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ในปริมาณมาก ในขณะที่กลุ่มฯมี Order เพิ่มมากขึ้นทุกวัน  เนื่องเพราะแคบหมูเป็นสินค้าที่ไม่แพง ขายง่าย  คนส่วนใหญ่สามารถบริโภคได้ตลอดเวลา  ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ กำลังซื้อถดถอย คนจึงหันมาบริโภคสินค้าราคาไม่แพง  กลุ่มฯ จึงต้องการเครื่องมือหรือเครื่องจักรขนาดเล็กมาช่วยในกระบวนการผลิต  เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้มากขึ้น  และเป็นการช่วยแบ่งเบาแรงงานของสมาชิก หรือช่วยลดเวลาในกระบวนการผลิตอีกทางหนึ่ง

แคบหมู 3 ชนิด แคบกระจกเหมาะสำหรับวัยรุ่น  แคบขาวเหมาะกับวัยกลางคน และแคบมันเหมาะสำหรับคนสูงวัย

แคบหมูบรรจุในถุงขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เพื่อให้สะดวกต่อการจำหน่าย

โลโก้

โลโก้ของกลุ่ม