การพัฒนา บรรจุภัณฑ์ และการสร้างแบรนด์ข้าวอินทรีย์ กลุ่มเทียนแก้ว ต.บ้านตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา

กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านบัว  มีสมาชิกจำนวน 153 คน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2523   และต่อมาได้ขึ้นทะเบียนเป็นสหกรณ์ข้าวอินทรีย์บ้านบัว  กับหน่วยงาน สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพะเยา  ในการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์กลุ่มต้องมีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ตามระเบียบของสหกรณ์ฯ  โดยทุกครั้งที่กลุ่มมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆจะต้องมีการประชุมและได้รับความเห็นชอบจากจาก กรรมการสหกรณ์ ทำให้การดำเนินงานของกลุ่มมีความยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายสูงและไม่คล่องตัวในการประกอบธุรกิจ การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ทำได้ไม่สะดวก

ในปี  พ.ศ. 2559 สมาชิกของสหกรณ์  ผลิตข้าวอินทรีย์จำนวนพื้นที่ 1,500 ไร่  มีผลผลิตออกมาจำนวนมาก ทำให้ข้าวไม่สมารถจำหน่ายได้ทั้งหมด มีข้าวเหลือตกค้าง(ล้นสต๊อก) เป็นปัญหาให้กลุ่มเป็นอย่างมากทั้งการจัดเก็บและเงินทุนหมุนเวียน  สมาชิกของสหกรณ์ จำนวน 8 คน   จึง แยกมาตั้งกลุ่มเล็กๆชื่อว่า กลุ่มข้าวอินทรีย์เทียนแก้ว   เพื่อเสริมการทำงานของสหกรณ์กลุ่มใหญ่  โดยมุ่งเป้าเพื่อพัฒนาต่อยอดข้าวอินทร์ทรีย์ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย และเพิ่มมูลค่าของสินค้า โดยสามารถดำเนินงานได้สะดวก รวดเร็ว ทันต่อความต้องการของตลาด  ซึ่งจะช่วยระบายสินค้าจากกลุ่มสหกรณ์ฯ และเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับข้าวอินทรีย์ของสมาชิก  ช่องทางการตลาดของกลุ่มข้าวอินทรีย์เทียนแก้วจะแตกต่างจากช่องทางการตลาดของสหกรณ์ข้าวอินทรีย์บ้านบัว     โดยสหกรณ์จะจำหน่ายข้าวแบบขายส่ง จำนวนครั้งละมาก ๆ แต่กลุ่มข้าวอินทรีย์เทียนแก้ว  จะเน้นการขายปลีกให้กับผู้บริโภคจำนวนไม่มาก และจะมีการพัฒนาและ แปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอางค์ และอาหารสำเร็จรูป เช่น สบู่ข้าว   ลิปสติก  แชมพู  และข้าวงอกพองกรอบ เป็นต้น

การเน้นการขายปลีกให้กับผู้บริโภคทำให้จำเป็นต้องมีการปรับปรุงปริมาณข้าวที่จะขาย เป็นแบบครั้งละ ครึ่งถึงหนึ่งกิโลกรัม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อได้ง่ายขึ้น  โดย กลุ่มข้าวอินทรีย์เทียนแก้ว จะออกไปจำหน่ายตามตลาดต่างๆ ทั้งที่เป็นของเอกชนและตลาดที่หน่วยงานต่างๆ ได้จัดขึ้น ทั้งในระดับจังหวัดและต่างจังหวัด และเมื่อได้ไปจำหน่ายสินค้า ทำให้กลุ่มฯพบว่าหีบห่อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯยังไม่น่าสนใจ ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อ  อีกทั้งแบรนด์ของกลุ่มฯก็ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย  ในช่วงปี 2564-2565 ผู้ประสานงานของ Home Net North  จึงได้ร่วมกันกับสมาชิกกลุ่มฯในการพัฒนารูปแบบหีบห่อ(Package)  ให้ผลิตภัณฑ์น่าสนใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยในการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น เช่น

1 จัดทำป้ายชื่อกลุ่มฯติดตั้งในสถานที่ผลิตสินค้า เพื่อความสวยงามและแสดงความเป็นมาตรฐาน รวมทั้งจัดทำป้ายเพื่อประชาสัมพันธ์ในการออกไปจำหน่ายสินค้าตามสถานที่ต่างๆ  

2 พัฒนายี่ห้อ (logo) และการหีบห่อ ของผลิตภัณฑ์ข้าวงอกพองกรอบ และข้าวอินทรีย์ ให้ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค

3. ร่วมกับสมาชิกของกลุ่มหาจุดเด่นของสินค้าเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค เช่น สินค้าของกลุ่มเป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตจากป่าต้นน้ำสู่ผู้บริโภค ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าของกลุ่ม จะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ผลิต เป็นต้น

สินค้าของกลุ่มข้าวอินทรีย์เทียนแก้ว ได้ผ่านระดับมาตรฐานของหน่ายงานภาครัฐ  เพราะได้มีการตรวจรับรองว่าปราศจากสารเคมีเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค  และการสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ  กล่าวคือ  แปลงผลิตข้าวอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำตุ่น ปลอดภัยไม่มีการทำการเกษตรที่ใช้เคมีทุกชนิด ระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์มีน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรตลอดทั้งปี  สมาชิกกลุ่มผ่านการอบรมกระบวนการแปรรูปข้าวอินทรีย์ครบทุกคน  ดังนั้นทุกผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่นำมาแปรรูปจึงปลอดภัยจากสารเคมี การอุดหนุนสินค้าของกลุ่มฯ จึงไม่ใช่แค่การเกื้อกูลกันระหว่าผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ยังรวมไปถึงการเกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นับเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างสมานฉันท์ (Social Solidarity Economy)

การทำให้ผลิตภัณฑ์มีหีบห่อที่น่าสนใจ และสื่อสารเรื่องราวของสินค้าเพิ่มขึ้น ได้ส่งผลให้กลุ่มฯมียอดจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้นทั้งในตลาดระดับจังหวัดและต่างจังหวัด   และยังช่วยให้กลุ่มฯสามารถส่งออกให้กับประเทศจีนโดยผ่านตัวแทนการค้าของเอกชนประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อเดือน ทำให้สมาชิกกลุ่มฯ มีรายสม่ำเสมอและมีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะกลุ่มฯรับซื้อผลผลิตของสมาชิกในราคาแพงกว่าตลาดทั่วไป 2 บาท  สืบเนื่องมาจากกระบวนการผลิตข้าวอินทรีย์นั้นต้องการความเอาใจใส่มากกว่าการผลิตข้าวที่ใช้สารเคมีทั่วไป  การขายข้าวโดยได้ราคาสูงขึ้นจึงเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการผลิตข้าวอินทรีย์ของสมาชิก  และเมื่อสิ้นปีสมาชิกกลุ่มฯก็จะได้รับเงินปันผลจากกำไรที่กลุ่มขายสินค้าได้มากน้อยขึ้นอยู่กับยอดจำหน่ายของแต่ละปี

ปัจจุบัน กลุ่มข้าวอินทรีย์เทียนแก้ว มีโฮมเนท ประเทศไทย เป็นที่ปรึกษากลุ่ม   และเป็นที่รู้จักของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้มีหน่วยงานภาครัฐมาช่วยหนุนเสริมการพัฒนากลุ่มอย่างต่อเนื่อง เช่น  พัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยา     กรมการข้าว สำนักงานพาณิชย์จังหวัด  มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ที่เข้ามาช่วยให้การศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง  พร้อมทั้งหนุนเสริมงบประมาณในการพัฒนาต่างๆให้แก่กลุ่มฯ  อย่างไรก็ดีกลุ่มฯยังต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายประการ เช่น

  • การพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานของ อย.   และการรักษามาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน เนื่องจากสินค้าได้รับการคัดเลือกเป็นสินค้า 5 ดาวของจังหวัด
  • การพัฒนาหีบห่อให้ครบทุกผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่มีอยู่ เพราะปัจจุบันได้มีการปรับปรุงเพียง 2 อย่างเท่านั้น ในขณะที่มีสินค้าอยู่ 5 ประเภท 
  • การพัฒนาสินค้าเพื่อการส่งออก ทั้งในระดับต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เพราะสินค้างบางชนิดได้รับความสนใจจากต่างประเทศ แต่กลุ่มยังไม่สามารถเข้าถึงการบริหารจัดการในระดับสูงได้
  • การยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในการต่อยอดข้าวเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม
  • การยกระดับกระบวนการผลิตที่ใช้อุปกรณ์การแปรรูปที่สามารถผลิตได้จำนวนมากขึ้น  เช่น  เครื่องอัดแท่งข้าว ขนาดใหญ่  เครื่องแปรรูปข้าวพองกรอบ และอุปกรณ์การขึ้นรูปสบู่  เป็นต้น