กองทุนเงินยืม เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและอาชีพ และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ทำการผลิตที่บ้าน

การไม่มีเงินทุนหมุนเวียนตลอดจนการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเป็นปัญหาตลอดมากลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านที่ดำเนินธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งผู้ผลิตเพื่อขายและผู้รับงานไปทำที่บ้าน  ทำให้ทั้งปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มไม่สามารถสะสมวัตถุดิบทางการผลิต ทำให้ไม่สามารถรับคำสั่งซื้อ หรือคำสั่งผลิตที่มีจำนวนมาก ไม่สามารถพัฒนากระบวนการผลิตให้มีผลิตภาพและความปลอดภัยที่สูงขึ้น หรือหากจะลงทุนในเรื่องดังกล่าวก็อาจจำเป็นต้องกู้ยืมเงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงและตกอยู่ในภาวะหนี้สินที่เป็นภาระหนัก

เมื่อโฮมเนทประเทศไทยเริ่มดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและอาชีพของสมาชิกหลังผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเห็นความสำคัญของการมีกองทุนเล็ก ๆ ของตนเองเพื่อที่จะให้สมาชิกยืมไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการฟื้นฟูการทำมาหากิน

“กองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจของสมาชิกเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคอีสาน”เริ่มต้นขึ้นเมื่อกันยายน 2563จากเงินทุนจำนวน 180,000 บาท (80,000 บาท จากเงินสะสมของเครือข่ายฯเอง และ 100,000 บาทจากการสนับสนุนของมูลนิธิชาแนล) กรรมการเครือข่ายฯได้ประชุมและตกลงในกติกาที่สำคัญร่วมกัน ได้แก่

  • เน้นการเป็นกองทุนเงินยืม พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่มีดอกเบี้ยซึ่งจะกลายเป็นภาระของผู้ยืม โดยเก็บค่าธรรมเนียมเพียงร้อยละ 3 ของเงินยืมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แม้จะรู้ว่าด้วยค่าธรรมเนียมจำนวนน้อยจะทำให้วงเงินกองทุนเติบโตช้า
  • ให้ยืมได้ทั้งปัจเจกและกลุ่ม เพราะตระหนักว่าความจำเป็นในการใช้เงินอาจเกิดได้ทั้งระดับของกลุ่มและปัจเจก เพียงมีการกำหนดวงเงินที่ต่างกัน (ปัจเจกยืมได้ครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท กลุ่มยืมได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท)
  • ในกรณีผู้ยื่นยืมเงินเป็นปัจเจกต้องได้รับการรับรองจากประธานกลุ่มของตน เพื่อให้กรรมการกองทุนมีความมั่นใจในความรับผิดชอบทางการเงินของผู้ยื่นยืม และมั่นใจว่าผู้ยืมจะนำไปเงินใช้จริงตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้
  • ในกรณีที่กลุ่มเป็นผู้ยืม ต้องมีกรรมการกลุ่มอย่างน้อย 3 คนลงชื่อร่วมกันในแบบฟอร์มการยืม  เพื่อแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน
  • ผู้ยื่นยืมเงินต้องระบุวัตถุประสงค์ในการยืมและรายละเอียดในการใช้เงิน เช่น ราคาวัสดุ อุปกรณ์ที่จะซื้อ เพื่อกรรมการกองทุนจะใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาให้ยืม
  • เมื่อเริ่มกองทุนได้ตกลงกันว่าจะให้ยืมแต่เฉพาะวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการพัฒนาอาชีพเท่านั้น หลังจากนั้นประมาณหนึ่งปีจึงได้ปรับปรุงกติกาให้สามารถยืมไปใช้ในความจำเป็นอื่น ๆ นอกเหนือจากการพัฒนาอาชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกเครือข่ายฯ  ต่อมาพบว่าสมาชิกได้ขอยืมไปใช้ในกรณีความยากลำบากอื่น ๆ เช่น ใช้หนี้นอกกระบบ ใช้จ่ายในเรื่องความเจ็บป่วยของสมาชิกครอบครัว ค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของบุตรหลาน การซ่อมแซมบ้าน ฯลฯ
  • การชำระเงินคืน ให้แบ่งชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 1,000 บาท จนกว่าจะครบวงเงินที่ยืมไป ที่กำหนดให้แบ่งชำระเป็นรายเดือนไม่ใช่ชำระครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดเวลาก็เพื่อจะไม่ให้เป็นภาระหนักแก่ผู้ยืมมากเกินไปในการใช้คืนเป็นก้อนใหญ่

จนถึงเดือนมีนาคม 2566 กองทุนได้พิจารณาให้ยืมเงินไปแล้ว 8 ครั้ง มีการยืมเงินแล้วจำนวน 69 คน/ครั้ง (สมาชิกบางคน และบางกลุ่มมีการยืมเงินมากกว่า 1 ครั้ง) ด้วยความรับผิดชอบของสมาชิกเครือข่ายฯที่เป็นผู้ยืมเงิน และความเอาใจใส่ของกรรมการกองทุน การดำเนินงานของกองทุนนับว่าเป็นไปด้วยดี บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและอาชีพ และบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกเครือข่ายฯ  ผู้ค้างชำระมีเพียง 3 ราย (คิดเป็นร้อยละ 4 ของผู้ยืมเงิน) ซึ่งเป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ในช่วงนี้

มีตัวอย่างความสำเร็จมากมายที่เกิดขึ้นช่วงสองปีครึ่งของการดำเนินการของกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจของสมาชิกเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคอีสาน เช่น

  • สมาชิกเครือข่ายฯจากชมรมช่างแต่งผมเสริมสวย จังหวัดมหาสารคาม  ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการประกาศ lock down ของรัฐบาลในช่วงระบาดรุนแรงของโควิด-19 จนกระทั่งรายได้เป็นศูนย์เป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งปี ได้ยืมเงินจากกองทุนไปใช้ซื้ออุปกรณ์ ปรับปรุงตกแต่งร้านใหม่ จำนวน 7 คน/ครั้ง
  • กลุ่มตะกร้าสานพลาสติกชุมชนโนนหนองวัด 4 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 10 คน ซึ่งยอดการขายลดลงถึง 70% จากผลกระทบของโควิด-19 ประธานกลุ่มทำเรื่องยืมเงินของ จำนวน3 ครั้ง ครั้งที่หนึ่ง 10,000 บาท ครั้งที่สอง 10,000 บาท และครั้งที่สาม 8,000 บาท เพื่อซื้อเส้นพลาสติกซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต ประกอบกับการเข้ารับการอบรมเรื่องการขายออนไลน์ การโฆษณาสินค้าผ่าน facebook อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มสามารถกลับมามีรายได้เฉลี่ยประมาณวันละ 300-400 บาทซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
  • เริ่มตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 แล้วที่การเรียกร้องค่าตอบแทนตามอัตราที่กำหนดในกฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านทำให้โรงงานอวนแห่งหนึ่งลดการส่งงานประกอบอวนมาให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านที่บ้านเหล่าเวียนหัก จ.ขอนแก่นจากที่เคยส่งงานให้หัวหน้าสาย 12 คน บริษัทส่งงานให้หัวหน้าสายเหลือเพียง 1 คน ทำให้คนจำนวนมากไม่มีงานทำ  ด้วยการยืมเงินกองทุนของหัวหน้าสายการทำแหอวนจำนวน 6 คน คนละ 10,000 บาท ไปลงทุนซื้อวัตถุดิบในการประกอบอวน ทำให้สามารถเปลี่ยนจากสถานะการเป็นผู้รับงานอวนไปทำที่บ้านมาเป็นผู้ผลิตอวนเพื่อขาย  โดยขายอวนที่ผลิตให้โรงงานอีกแห่งหนึ่ง พ่อค้าอิสระอีก 5-6 ราย และขายทางออนไลน์  ได้ราคาเพิ่มขึ้น  จึงสามารถจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้านจำนวน 80 คน ให้กลับมามีงานทำอย่างต่อเนื่อง และได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50-66  คือจากชิ้นละ 10-15 บาท เป็นชิ้นละ 15-25 บาท

จากตัวอย่างที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าถึงแม้กองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจและอาชีพนี้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ในช่วงเวลาเพียงสองปีกว่ากองทุนฯนี้ได้ช่วยให้สมาชิกกลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านภาคอิสานเกือบ 100 คน ให้สามารถฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้  และภายใต้การสนับสนุนจากโฮมเนท ประเทศไทย กองทุนในลักษณะเดียวกันนี้ก็ดำเนินการอยู่ในแครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคเหนือ กลาง ใต้ และ กทม. เช่นเดียวกัน

สุนทรี  หัตถี  เซ่งกิ่ง
เมษายน 2566