กองทุนข้าวสาร เชื่อมผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค : จากทุ่งระโนด ถึงคนเมืองสงขลา

เครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัดสงขลา

HomeNet Thailand  ได้ทำงานกับแรงงานนอกระบบในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย  กลุ่มเป้าหมายที่ทำงานด้วยมีทั้งกลุ่มที่อยู่ในชนบท ได้แก่กลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้าน  กลุ่มเกษตรกร  เป็นต้น และกลุ่มแรงงานนอกระบบที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ของจังหวัดได้แก่ กลุ่มแม่ค้ารถเร่แผงลอย กลุ่มมอเตอร์ไซด์รับจ้าง กลุ่มเสริมสวย กลุ่มตัดเย็บผู้ทำการผลิตที่บ้าน กลุ่มผู้รับจ้างทั่วไป ในการทำงานนั้นมีการส่งเสริมด้านการรวมกลุ่ม ทักษะการผลิต การตลาด และการพัฒนาศักยภาพกลุ่มองค์กรของแรงงานนอกระบบ มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ชื่อว่า “เครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัดสงขลา”

กองทุนข้าวสาร เป็นรูปธรรมหนึ่งจากการส่งเสริมการผลิต พัฒนาแบรนด์สินค้าและการตลาดของกลุ่ม สู่การของเชื่อมโยงกันในเครือข่าย  ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับกลุ่มผู้ขาย(กลุ่มปิ่นโตข้าว)  ผู้ซื้อ(แกนนำกองทุนข้าวสาร) และลูกค้า (ผู้บริโภคในเมือง)  คือสมาชิกเครือข่ายแรงงานนอกระบบและคนจนเมืองที่อาศัยอยู่ในเมืองสงขลา

จุดเริ่มความคิด

อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของภาคใต้ตอนล่าง   มีพื้นที่ปลูกข้าว ประมาณ 70,000-80,000 ไร่ (ข้อมูลเกษตรอำเภอปี 2563) พบว่าระยะ 10 ปีที่ผ่านมาพื้นที่นาข้าวลดลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพราะราคาต้นทุนการผลิตการทำนาสูงขึ้น ราคาข้าวเปลือกถูก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศ ทำให้ชาวนาเปลี่ยนอาชีพ หรือเปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมันแทนข้าว  

จากปัญหาที่พบทำให้เกษตรกรตำบลบ้านใหม่ และตำบลตะเครียะ ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม ชื่อว่ากลุ่มแปลงใหญ่ข้าวหนองอ้ายแท่น  เมื่อปี 2561  มีสมาชิก 36 ราย   มีพื้นที่ปลูกข้าว 740 ไร่ การรวมกลุ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เช่นรวมกันซื้อข้าวปลูกในนามกลุ่มราคาจะถูกกว่าการซื้อรายบุคคล และการเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ มีการสร้างความร่วมมือการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การวางแผนการผลิต การแปรรูป และการตลาด ตลอดจนการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร รวมทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะและได้มาตรฐานปลอดภัย กลุ่มได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน  

ปี2563 HomeNet Thailand ได้เข้าไปช่วยเสริมเรื่องการพัฒนาศักยภาพกลุ่ม มีการจัดทำระบบข้อมูลการผลิตของกลุ่ม กำหนดกติการะเบียบของกลุ่ม จัดทำโครงสร้างคณะกรรมการในการบริหารจัดการกลุ่ม

ปี 2564 กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวหนองอ้ายแท่น และHomeNet Thailand ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการเพื่อของบประมาณจากภาครัฐภายใต้ โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดได้รับงบสนับสนุนจำนวน 2,900,000บาท มาดำเนินการสร้างโรงสีข้าวชุมชน โดรนเพื่อการเกษตรพร้อมอุปกรณ์ รถอีแต๋น 1 คัน และอุปกรณ์เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ต่อมาบริษัทคูโบต้าจำกัด ได้สนับสนุนรถไถ  และเครื่องอัดฟาง มูลค่าประมาณ 1,200,000 บาท 

ปัจจุบันกลุ่มจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลแปลงใหญ่หนองอ้ายแท่น  มีกิจกรรมหลักๆคือการทำนา  บริการเทคโนโลยีโดรน เมล็ดพันธุ์ แก่สมาชิก และแปรรูปข้าวสาร ภายใต้แบรนด์ “ปิ่นโตข้าว” ภายใต้คำขวัญ “ชาวนาผลิตเอง สีข้าวเอง ขายข้าวสารด้วยตัวชาวนาเอง”

กลุ่มปิ่นโตข้าว มีโครงสร้างการบริหารจัดการกลุ่มที่ชัดเจน มีคณะกรรมการแบ่งความรับผิดชอบ มีการจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย สามารถตรวจสอบได้ มีกฎกติกากลุ่ม  และมีการจัดการการเงินเป็นสัดส่วนดังนี้ ปันผลคืนค่าหุ้นให้กับสมาชิก    ร้อยละ 25   ค่าบริหารจัดการของกิจการกลุ่ม   ร้อยละ 10 ค่าใช้จ่ายเพื่อสาธารณประโยชน์      ร้อยละ 10  สวัสดิการกลุ่ม   ร้อยละ 15     เงินทุนหมุนเวียนในกลุ่ม ร้อยละ 40 การกำหนดราคาในการขายข้าว เป็นราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดหากเปรียบเทียบจากคุณภาพของข้าว

ปี 2565  HomeNet Thailand ได้ร่วมวางแผนด้านการตลาด จัดทำข้อมูล ร่วมออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์สินค้า ฯลฯ จัดทำบรรจุภัณฑ์ อบรมเรื่องการทำบัญชี เรื่องการตลาดและ อบรมการขายออนไลน์ให้กับกลุ่ม ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายของแรงงานนอกระบบจังหวัดสงขลา ทำให้เกิดเวทีของการแลกเปลี่ยน นำไปสู่การวางแผนการช่วยเหลือซึ่งกันและกันขึ้น

จุดเปลี่ยน

         ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับแรงงานนอกระบบที่ทำมาหากินในเมืองสงขลา ได้แก่กลุ่มตัดเย็บ กลุ่มเสริมสวย แม่ค้ารถเร่แผงลอย มอเตอร์ไซด์รับจ้าง เครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัดสงขลาจึงได้มีการประชุมและหาแนวทางในการช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกในด้านอาหารซึ่งมีแนวทางการทำงาน 2 เรื่องคือการส่งเสริมการปลูกผักข้างบ้าน และการส่งเสริมให้เกิดกองทุนข้าวสารเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสมาชิกเครือข่าย เริ่มแรกปี 2565 ทดลองทำกับแกนนำ 4 คน ข้าวสาร 400 กก.

         กองทุนข้าวสาร ในที่นี้หมายถึงการเชื่อมโยงชีวิต เชื่อมโยงอาชีพของสมาชิกเครือข่ายแรงงานนอกระบบในจังหวัดสงขลา กลุ่มปิ่นโตข้าวมีข้าวสาร ในขณะเดียวกันสมาชิกในเมืองต้องการข้าว ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมาเจอกัน ภายใต้แนวคิด เศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ หรือ Social Solidarity Economy เพื่อนช่วยเพื่อน ไว้วางใจกัน และได้ประโยชน์ร่วมกัน กลุ่มปิ่นโตข้าวผลิตข้าวที่ดี มีคุณภาพ ราคาถูกกว่าท้องตลาด โดยจะสีข้าวสารส่งตามออร์เดอร์ที่สั่ง  ข้าวจึงหอม สดใหม่ ไม่มีการใส่สารกันมอด กันแมลงเพื่อส่งให้กับเพื่อนสมาชิกผู้ค้าในเมือง  และกระจายไปยังผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีกำไรส่วนหนึ่งที่เก็บไว้กองกลางเพื่อช่วยเหลือสมาชิกยามเดือดร้อนต่อไป

กองทุนข้าวสารดำเนินการโดยแกนนำของกลุ่ม 1 คน หาลูกค้าจากฐานสมาชิกกลุ่มอาชีพ เช่นกลุ่มแม่ค้า เสริมสวย  ฐานสมาชิกเครือญาติ และฐานสมาชิกชุมชน อย่างน้อย 10 คน มาซื้อข้าวสารกับกลุ่ม เดือนละ 2 ครั้ง ปัจจุบันกองทุนมีแกนนำในการเชื่อมต่อซื้อขาย 7 คน และมีผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 100 คน สามารถซื้อข้าวสารได้ครั้งละประมาณ 300 – 400 กิโลกรัม ในการซื้อขายข้าวกลุ่มฯจะหักกำไรไว้ที่กองทุนข้าวสาร 1 บาทต่อกิโลกรัมเพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือสมาชิกแรงงานนนอกระบบของเครือข่ายยามประสบภาวะยากลำบาก

ปัญหาที่พบ  

         กลุ่มปิ่นโตข้าวมีเงินหมุนเวียนไม่มากพอที่จะซื้อข้าวเปลือกของสมาชิกไว้ได้ทั้งหมด  ยังคงต้องขายข้าวเปลือกส่วนใหญ่ให้กับพ่อค้า บางช่วงทำให้ข้าวขาดตลาด ไม่สามารถส่งให้สมาชิกอย่างต่อเนื่องได้ นอกจากนั้นสมาชิกของกลุ่มเป็นแรงงานผู้หญิงมีปัญหาในการยกข้าวซึ่งมีน้ำหนักมาก

ผลลัพธ์

  • กองทุนข้าวสาร เป็นรูปธรรมหนึ่งจากการส่งเสริมการผลิต พัฒนาแบรนด์สินค้าและการตลาดของกลุ่ม สู่การของเชื่อมโยงกันภายในเครือข่ายแรงงานนอกระบบ  ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับกลุ่มผู้ขาย(กลุ่มปิ่นโตข้าว)  ที่ได้ขายข้าวในราคาที่ต้องการ ผู้ซื้อ(แกนนำกองทุนข้าวสาร) ได้มีรายได้เสริม และลูกค้า (ผู้บริโภคในเมือง)  คือสมาชิกเครือข่ายแรงงานนอกระบบและคนจนเมืองที่อาศัยอยู่ในเมืองสงขลาที่ได้ซื้อข้าวสารในราคาที่เหมาะสมและได้ข้าวสารที่คุณภาพดี เป็นการกระจายรายได้ทั้งผู้ผลิตและผู้ค้าในเมือง เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างแรงงานนอกระบบ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนให้เกิดความคิดใหม่ๆในการพัฒนาอาชีพซึ่งกันและกัน
    • รายได้ที่กลุ่มฯหักไว้เมื่อมีการซื้อข้าวสารกิโลละ 1 บาท กลุ่มฯได้นำมาจัดตั้งเป็นกองทุนสำหรับการช่วยเหลือกันยามเดือดร้อน โดยปัจจุบันมีเงินกองทุนประมาณ 4,000บาท
    • การเชื่อมโยงกันของเครือข่ายแรงงานนอกระบบสงขลาผ่าน กองทุนข้าวสาร ช่วยจุดประกายความคิดของกลุ่มที่ทำงานทางสังคม กลุ่มองค์อื่น เมื่อได้รับฟังแนวคิดและเห็นการดำเนินงานของเครือข่าย เกิดความคิดริเริ่มเรื่องการจัดทำพวงรีดข้าวสาร   เพื่อช่วยเหลือคนยากลำบาก โดยมีหน่วยงานของรัฐเข้ามาร่วมวงพูดคุยและสนับสนุนแนวคิดนี้

                                                                                          นางจันทนา  เจริญวิริยะภาพ
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
19 เมษายน 2566