การปรับตัวของแรงงานนอกระบบหลังโควิด-19

แนวโน้มเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

หากเรารู้แนวโน้มในอนาคต เราก็จะสามารถปรับตัวอยู่กับมันได้ โดยประเทศไทยเมื่อปี 2563 เศรษฐกิจหดตัวลงไปมากถึง 6 % จากการจับจ่ายใช้สอยที่น้อยละ การไม่มีนักท่องเที่ยวและการส่งออกที่ซบเซา หากปีหน้าไม่มีการล๊อกดาวน์หรือมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เศรษฐกิจจะโตได้ถึง 3.5% แต่ประเทศไทยจะยังไม่กลับไปเหมือนก่อนโควิดต้องรอปี 2566 ซึ่งน่าจะกลับไประดับเดียวกับ ปี 2562 ได้

แนวโน้มเศรษฐกิจ

  1. การจับจ่ายของประชาชนเริ่มฟื้นหลักจากโควิดไปแล้ว การ Work from home หรือการทำงานที่ไหนก็ได้ จะกลายเป็นเรื่องปกติ คนจะไม่เดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิม ส่งผลให้รูปแบบการซื้อเปลี่ยนไป ดังนั้น อาชีพที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานออฟฟิศ ต้องปรับตัวตามไปด้วย
  2. การที่นักท่องเที่ยวหาย ทำให้กำลังซื้อของเราหายไปด้วย ดังนั้น การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะประเทศไทยยังไม่ได้เปิดอย่างเสรี ไฟลท์บินยังไม่มีมากเท่าเดิม และประเทศต้นทางเองก็อาจจะไม่ได้สนับสนุนให้คนในประเทศเดินทางออกนอกประเทศมากนัก
  3. การส่งออกยังส่งออกได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกอาหารสัตว์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า

แนวโน้มและโอกาสในโลกหลังโควิด

  1. บริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่นและไต้หวัน กำลังย้ายบริษัทออกจากจีนมาอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย เนื่องจากความไม่มั่นคงที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา
  2. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล (Digitalization) จะยังเติบโตมากขึ้น
  3. การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมได้รับความสำคัญมากขึ้น ส่งผลต่อกฎและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้า โดยบังคับให้ใช้วัตถุดิบและการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เช่นนั้นจะต้องเสียภาษีส่งออกมากขึ้น
  4. ความต้องการอาหารและสินค้าชีวภาพในโลกจะเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันที่ทำจากพืช แก้วพลาสติกที่ผลิตจากพืชและย่อยสลายตามธรรมชาติได้ เนื้อจากพืช และยา ฐานการผลิตของสินค้าเหล่านี้คือภาคเกษตรกรรม เป็นโอกาสของประเทศไทยหากสามารถใช้เทคโนโลยีและความรู้เพื่อสร้างมูลค่าในการส่งออกได้
  5. สัดส่วนของประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้น ในอนาคตความต้องการสินค้าจากผู้สูงอายุก็จะเพิ่มสูงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับการจ้างงานในอนาคต

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน คือ ผลกระทบไม่มีพรมแดน ทำให้ทุกประเทศต้องช่วยกันในการรักษาสิ่งแวดล้อม

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อลดโลกร้อน เน้นเปลี่ยนการผลิตพลังงานจากการใช้ฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียน ปรับเปลี่ยนวิธีการขนส่ง โดยลดการใช้ขนส่งสาธารณะ และรถส่วนตัวที่ใช้น้ำมัน สร้างการขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เน้นการบริโภคน้อยลง ใช้ซ้ำ ใช้หมุนเวียนมากขึ้น ลดการใช้พลังงาน และการก่อสร้างถนนและอาคารต่าง ๆ ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แนวทางเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อการจ้างงาน โดยส่งผลให้ ตำแหน่งงานลดลง จากการปิดตัวหรือปรับตัวของอุตสาหกรรม นอกจากนี้โลกร้อนอาจส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคเกษตร การท่องเที่ยว และสุขภาพ อย่างไรก็ตามยังส่งผลให้  ตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้น ในบางอุตสาหกรรม อาทิ ภาคพลังงานหมุนเวียนพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวภาพ การขนส่งแบบใหม่ที่เป็นรถไฟฟ้า ภาคการก่อสร้าง ในการปรับโครงสร้างพื้นฐานใหม่รองรับโลกร้อน

หัวใจสำคัญคือ เราจะต้องสร้างสังคมและเมืองที่เป็นมิตรกับโลกและสิ่งแวดล้อม โดยในขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมต่อแรงงาน นโยบายเพื่อลดภาวะโลกร้อนจะต้องมีความเป็นธรรมต่อคนงาน ช่วยสร้างงานที่ดีและมีคุณค่า มีการคุ้มครองทางสังคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีประโยชน์ต่อส่วนร่วม ไม่ใช้มีเพียงคนบางกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบอยู่ฝ่ายเดียว

ภาวะโลกร้อนกับแรงงานนอกระบบ แรงงานนอกระบบมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจ ช่วยทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน แต่พวกเขาเหล่านี้กลับทำงานในกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนน้อย มีการบริโภคและการใช้ไฟฟ้าที่น้อยกว่า แต่ได้รับความเสี่ยงมากกว่า ในการได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน อาทิผลกระทบจากน้ำท่วม ดินถล่ม มลพิษทางอากาศ ที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัย ทำให้แรงงานเหล่านี้ทำงานได้น้อยลงและสินค้าทางการเกษตร เสียหาย ซึ่งโลกร้อนกระทบคนชนบทอย่างมาก เกิดกระแสการย้ายถิ่นเข้าเมืองมากขึ้น คนเหล่านี้กลายเป็นคนจนเมือง จากการแข่งขันที่มากขึ้น มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 คนชนบทประมาณ 140 ล้านคนจะย้ายถิ่นเข้าเมืองในประเทศเดียวกัน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบในภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และการบริการที่พึ่งพาดินฟ้าอากาศ มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างมาก หลาย ๆ ประเทศมีนโยบาย หรือออกกฎหมายที่ช่วยลดโลกร้อน แต่นโยบายเหล่านี้ก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับตลาดแรงงาน และยิ่งแรงงานนอกระบบยิ่งพูดถึงน้อยมาก

นโยบายที่จะช่วยรองรับผลกระทบ

  1. พัฒนาทักษะอาชีพใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. การคุ้มครองทางสังคม เพราะการเกิดภัยพิบัติที่มากขึ้น ส่งผลให้คนต้องเปลี่ยนงานเพิ่มขึ้น
  3. การมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบในการกำหนดนโยบาย
  4. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคในเมือง คิดถึงคนจนเมือง
  5. ส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบทำงานในเศรษฐกิจหมุนเวียน

ข้อเสนอแนะเพื่อแรงงานนอกระบบในไทย

  1. เพิ่มศักยภาพของตัวเองให้ทำงานได้หลายอาชีพ สร้างเครือข่ายที่ช่วยเหลือกัน
  1. นำแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์มาปรับใช้ และต่อยอดศักยภาพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน
  2. รณรงค์นโยบายที่ทำอยู่แล้ว เช่น การพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคม การพัฒนาผังเมือง และการทำให้การขนส่งสาธารณะราคาถูก
  3. รณรงค์ให้มีการสร้างกลไกที่จะช่วยเสริมพลังให้แรงงานนอกระบบสามารถลงสนามแข่งขันได้
  4. นำแนวคิดเฟมินิสต์มาประยุกต์ใช้ในสังคมไทย ยกระดับโครงสร้างงานบริการและการดูแล ทำให้เป็นงานของสังคม มีค่าจ้างที่เป็นธรรม เพื่อสร้างงานและลดภาระงานของผู้หญิง

 

สังคมดิจิทัลกับการปรับตัวของแรงงานนอกระบบ

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และอาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ให้ภาพการเปลี่ยนผ่านจากยุคแอนนาล็อกสู่ดิจิทัล ที่เริ่มจากการให้บริการที่ร้านในลักษณะ ‘ช้าแต่ชัวร์’ จากนั้นพัฒนามาเป็นดิจิทัล 2G ที่เริ่มพัฒนาระบบอัตโนมัติและการให้บริการผ่าน Call Center ยุคถัดมาคือการมาถึงของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนที่ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลเองได้ทั้งในเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และโซเชียลมีเดีย เน้นการให้บริการที่รวดเร็ว จากนี้ไปเรากำลังเผชิญหน้ากับคลื่นลูกที่ 4 ของสังคมดิจิทัล ซึ่งเป็นยุคของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

กระแสการการปฏิวัติเทคโนโลยีและดิจิทัลในระดับโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับคุณภาพชีวิต แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อแรงงานที่มีทักษะน้อยที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ก็ต้องปิดตัวไป เมื่อพิจารณารวมกับบริบทการพัฒนาใหม่จากโควิด-19 ที่อ้างอิงมาจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า โควิดเร่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ทั้งการทำงานและการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้จำนวนคนที่หลุดออกมาจากการทำงานในระบบ ส่งผลให้แรงงานนอกระบบมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยที่แรงงานกลุ่มนี้ก็ยังไม่มีหลักประกันทางสังคมที่มั่นคง ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย รัฐบาลมีรายได้ลดลง คนจนเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจบางส่วนฟื้นตัวเร็ว บางส่วนต้องใช้เวลานานหลายปี

ทั้งหมดนี้นำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ของสภาพัฒน์ฯ ที่เน้นสังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่ายั่งยืน ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและวัฒนธรรม ก้าวทันพลวัตของโลก คำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ทั้งภาคเกษตรกรรม การโรงแรม อุตสาหกรรมการผลิต การแพทย์ เป็นต้น รศ.ดร.กิริยาเสนอว่า ทางรอดของแรงงานนอกระบบคือ การปรับตัว และพยายามมองหาโอกาสจากทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและโลกให้ได้ โดยเริ่มจากการปรับทัศนคติ เรียนรู้ตลอดชีวิต อย่ากลัวเทคโนโลยี หาข้อมูลเพื่อฝึกทักษะทางดิจิทัลผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ฟรีต่างๆ เพื่อเพิ่มทักษะดิจิทัล 5 ประเภท ได้แก่ รู้วิธีการสื่อสาร จัดการข้อมูล ทำธุรกรรมทางการเงิน ต้องรู้วิธีแก้ไขปัญหา และต้องทำธุรกิจอย่างปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมาย

ในส่วนของภาครัฐ รศ.ดร.กิริยาเสนอว่า รัฐบาลจะต้องสนับสนุนการฝึกอาชีพใหม่ ทั้งข้อมูลและเงินทุน ต้องปรับระบบประกันทางสังคมที่สร้างขึ้นมาเพื่อแรงงานในระบบเท่านั้น ต้องทำให้ “ทักษะเป็นทรัพย์สินที่มีค่า” ส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงสวัสดิการรัฐและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงปลอดภัย

ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมงานเสวนา

  • มีการเสนอแนวคิด ‘เศรษฐกิจระบบตลาดเพื่อสังคม’ จากประเทศเยอรมนี ที่เน้นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมในสังคม หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ควรถูกพูดถึงคือ การผูกขาดของบริษัทใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลเยอรมนีมีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันการผูกขาดของบริษัทใหญ่ ซึ่งจะทำให้แรงงานได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เสนอว่าเราจะต้องปลักดันเรื่องนี้ในประเทศไทยให้มากขึ้น
  • มีการเสนอว่าในการรองรับการจ้างงานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะในทิศทางที่แรงงานนอกระบบจะเพิ่มมากขึ้น ประกันสังคมควรเป็นแบบถ้วนหน้า เพราะขณะนี้ยังติดอยู่กับการต้องมีนายจ้าง-ลูกจ้าง
  • มีข้อเสนอว่า ผู้เล่นที่สำคัญมากที่จะคลี่คลายปัญหานี้คือ รัฐบาล ไม่ใช่แรงงานนอกระบบจะต้องปรับตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะการ ‘ปรับตัว’ ควรเริ่มมาจากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลว่าจะมีส่วนในการสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร เช่น จะทำอย่างไรให้การจัดซื้อจัดจัดจ้างของภาครัฐกระจายงานมาให้แรงงานนอกระบบด้วย แพลตฟอร์มที่มีอยู่ทุกวันนี้ ทำอย่างไรจึงจะไม่ได้ผูกขาดโดยเอกชนอย่างเดียว เช่น การมีแพลตฟอร์มที่เป็นของรัฐด้วยเพื่อให้แรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆ ได้เข้าไปใช้เพื่อทำธุรกิจ รวมไปถึงการสร้างพื้นที่ในโลกออนไลน์ของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ เพราะที่ผ่านมาแรงงานนอกระบบพยายามปรับตัวและช่วยเหลือตัวเองมาหลายอย่างแล้ว เสนอว่าจะต้องพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐเพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของแรงงานนอกระบบหลังโควิด
  • มีข้อเสนอว่าควรจะต้องให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพแรงงานนอกระบบเรื่องการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น และมีการเสนอว่าโฮมเน็ตอาจจะจัดทำเป็นชุดการเรียนรู้ เช่น คลิป ที่สามารถส่งให้กับแต่ละกลุ่มของแรงงานนอกระบบได้ โดยไม่ต้องลงไปอบรมทีละกลุ่ม
  • มีข้อเสนอว่า อีกทักษะที่สำคัญคือการออมและการบริหารเวลาของแรงงานนอกระบบ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการปรับตัว การเรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อแตรียมพร้อมกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ประเด็นนี้ มีแรงงานนอกระบบที่เป็นกลุ่มลูกจ้างรับงานไปทำที่บ้านแลกเปลี่ยนว่า กลุ่มแรงงานนอกระบบเองก็พยายามส่งเสริมเรื่องการออมกันในกลุ่ม แต่วิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถออมต่อไปได้ เนื่องจากเกิดการว่างงาน
  • แรงงานนอกระบบที่เป็นแม่ค้าขายของทั้งออนไลน์และออฟไลน์แลกเปลี่ยนว่า นโยบายของรัฐไม่ช่วยส่งเสริมให้กลุ่มแรงงานนอกระบบสามารถผ่านวิกฤตไปได้เลย โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงการช่วยเหลือเรื่องเงินทุนที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้แรงงานนอกระบบจำนวนหนึ่งต้องปู้เงินนอกระบบที่มาเสนอถึงหน้าบ้าน การเข้าถึงหน่วยงานของรัฐก็มีขั้นตอนยุ่งยาก
  • มีข้อเสนอว่าควรจะต้องผลักดันให้ภาครัฐประกันรายได้ระยะสั้นให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบเหมือนกับที่เคยทำกับกลุ่ม SMEs เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้นในภาวะวิกฤตขณะนี้