แรงงานทั้งผองพี่น้องกัน

พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ มีการจัดประชุมสัมมนาด้านแรงงานหลายเรื่องทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล เช่น เรื่อง“สถานการณ์แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน เรื่อง
“ทิศทางและแนวโน้มในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานในบริบทของอาเซียน” และ “ขบวนการสหภาพแรงงานสากลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: โครงสร้างและยุทธศาสตร์” เมื่อวันที่ 27 – 28 พฤศจิกายน ซึ่งทั้ง 3 เรื่องจัดโดยมูลนิธิ ฟรีดริค เอแบร์ท และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีการประชุม เรื่อง “อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานและการค้าที่เป็นธรรม” ระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน โดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
และเครือข่ายผู้รับงานไปทำที่บ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่อง “คนงานหญิงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ” เมื่อวันที่ 25
พฤศจิกายน โดยคณะกรรมการแรงงานหญิงแห่งเอเชีย (Committee for Asian Women ) และเครือข่ายการรณรงค์
Clean Cloth Campaign จัดสัมมนาระหว่างวันที่ 26 – 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา


ถ้าดูจากหัวข้อการสัมมนาจะเห็นว่าประเด็นในการสัมมนาต่างๆ นั้นดูเหมือนจะมีอยู่หลายประเด็นตามความสนใจและประสบการณ์ ของผู้จัด แต่เมื่อเข้าร่วมในการสัมมนาต่างๆ


ที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่าทุกเรื่องมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน กล่าวคือ ผลพวงของการพัฒนาในกระแสโลกาภิวัฒน์และการกำหนดเขตการค้าเสรี (FTA) ทำให้กลุ่มทุนพยายามปรับตนเองเพื่อให้สามารถแข่งขันได้โดย ปรับสภาพการจ้างงานให้เป็นแบบยืดหยุ่น มีการเหมาช่วงงานหรือส่งงานออกไปทำนอกโรงงาน หรือใช้แรงงานข้ามชาติ การปรับสภาพการจ้างในหลายรูปแบบนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อคนทำงานโดยเฉพาะแรงงานหญิงให้ได้รับค่าแรงที่ต่ำ มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน มีความเสี่ยงจากสภาพการทำงาน และขาดความรู้สึกมั่นคงในการทำงาน ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยห่างกันมาก

จำนวนแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติมีเพิ่มขึ้นจนมีขนาด ที่ใหญ่กว่าแรงงานในระบบ โดยเฉพาะในประเทศไทยในจำนวนผู้มีงานทำประมาณ 35.5 ล้านคนนั้นเป็นแรงงานในระบบและข้าราชการเพียง 13.5 ล้านคนที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายและระบบประกันสังคม และอีกประมาณ 22 ล้านคนเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฏหมายแรงงาน และไม่มีประกันสังคม ต้องเผชิญกับการทำงานหนักโดยมีชั่วโมงการทำงาน 5 – 11
ชั่งโมงต่อวัน ค่าแรงที่ได้รับก็เป็นรายชิ้นและค่อนข้างต่ำ เช่นงานเย็บรองเท้าได้ค่าแรงคู่ละ 4 บาท เย็บผ้าได้ค่าแรงตัวละ 3 – 8 บาท เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีแรงงานข้ามชาติอีกประมาณ 2 ล้านคน ที่ต้องเผชิญปัญหาที่รุนแรงกว่าแรงงานนอกระบบ เช่น ถูกคุกคามจากตำรวจ ได้ค่าแรงต่ำ ทำงานหนักที่แรงงานไทยไม่นิยมทำ เช่นงานประมง และลูกจ้างทำงานบ้าน ถูกจำกัดสิทธิในการเดินทาง การสื่อสาร และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม

นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างให้มีลักษณะยืดหยุ่นและหันไปใช้แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติเพื่อลดค่าใช้จ่าย และไม่ต้องรับผิดชอบมาตรฐานในการทำงานตามกฎหมาย ทั้งสภาพการทำงานและสวัสดิการแล้ว
ผลจากกระแสโลกาภิวัฒน์และการกำหนดเขตการค้าเสรียังเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใช้กลยุทธ์ของการย้ายฐานการผลิตเพื่อลดค่าใช้จ่าย และหลีกหนีการต่อรองของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในกรณีของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งสร้างงานและหล่อเลี้ยงคนงานหญิงในประเทศไทยมาประมาณ 3 ทศวรรษแล้ว ได้เริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกและมีมาตรฐาน การทำงานที่ต่ำกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเวียดนาม และกัมพูชา มีการประมาณการกันว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอจะย้ายฐานการผลิตส่วนใหญ่ไปอยู่ในจีนและอินเดีย โดย 50% ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอในอเมริกาและยุโรปจะมาจากจีน เพราะที่ประเทศจีนนั้นแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวคือได้รับค่าแรงต่ำ มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน มีความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ เป็นต้น


จะเห็นได้ว่าสิ่งที่คนทำงานจะต้องเผชิญนั้นมีหลากหลายมิติมากขึ้นทั้งรูปแบบการจ้างงานจากในระบบเป็นนอกระบบ
หรือการใช้แรงงานข้ามชาติมาทำงานแทน รวมทั้งการย้ายฐานการผลิตจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง ด้วยแนวทางเช่นนี้เมื่อมีการเรียกร้องมากขึ้นจากแรงงานในระบบ กลุ่มทุนก็จะปรับไปจ้างแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ เมื่อแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติประเทศใด


เรียกร้องให้มีการคุ้มครองทางกฏหมายและสวัสดิการมากขึ้นกลุ่ม ทุนก็ถือโอกาสย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทน หนทางของการอยู่รอดที่แรงงานจะไม่ต้องทนอยู่ในสภาพที่ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกงานจึงมิมีทางเลือกอื่นใดนอกจากการรวมพลังกันเพื่อรักษาสิทธิ ของตนให้ได้รับสภาพการจ้างที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน และได้รับค่าแรงและสวัสดิการที่เป็นธรรมจากกลุ่มทุน และการรวมตัวกันนั้นก็มิสามารถจะจำกัดอยู่เฉพาะแวดวงและอนาเขตของตนได้ แรงงานทั้งหลายต้องเปิดใจให้กว้าง และตระหนักว่า “แรงงานทั้งผองพี่น้องกัน” โดยไม่เลือกว่าจะทำงานอยู่ในรูปแบบ หรือเชื้อชาติใด การปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่จะต้องเผชิญ และช่วยกันผลักดันให้เกิดการรวมพลังอย่างเข้มแข็งในมวลหมู่ คนทำงานในลักษณะเดียวกัน และการรวมพลังข้ามรูปแบบการจ้างงาน ทั้งในและนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ

นอกจากนั้นการประสานงานและร่วมมือกันระหว่างขบวนการแรง งานทั้งระดับ ระหว่างประเทศ ภูมิภาค และสากล
จะช่วยยกระดับการรณรงค์ต่อสู้ให้เป็นการต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้แรงงานมีอำนาจในการต่อรองเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันขบวนการแรงงานก็ต้อง สามัคคีกับกลุ่มผู้บริโภคและประชาสังคมให้สนับสนุนการค้าขายที่เป็นธรรม ลดการเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มทุน เพื่อให้สังคมที่เราอยู่นี้ เกิดความเป็นธรรม และมีการกระจายทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเท่าเทียม