ฝันถึงสิทธิแรงงานที่ดีขึ้นในประชาคมอาเซียน

“ทิศทางและแนวโน้มในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานในบริบทของอาเซียน” ซึ่งจัดโดย มูลนิธิฟรีดริด เอแบร์ทและกระทรวงแรงงาน ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 ณ โรงแรมเซนจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมสัมนาประมาณ 180 คน จากสหภาพแรงงานและตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ในเมืองไทยประมาณ 150 คน และตัวแทนจากสหภาพแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนในภูมิภาคอาเซียนอีกประมาณ 30 คน การสัมมนาในวันนั้นค่อนข้างมีสีสัน เพราะได้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ว่าที่เลขาธิการอาเซียนคนใหม่ ที่จะเข้ารับตำแหน่งในต้นปีหน้า มาจับเข่าคุยกับผู้แทนเหล่านั้น

ดร.สุรินทร์ เริ่มต้นการสัมมนาด้วยการกล่าวถึงการรวมตัวกันของชุมชนอาเซียนว่าประกอบด้วยพันธะกิจ 3 ด้านคือ ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ซึ่งที่ผ่านมามีการสร้างกลไกทางเศรษฐกิจขึ้นมาหลายด้านแต่ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และสหภาพแรงงานยังมีส่วนร่วมด้วยน้อย ในขณะเดียวกันการพัฒนาด้านสังคมและวัฒนธรรมก็ไม่สามารถทำให้ ประชาชน 556 ล้านคนของอาเซียนมีอัตตาลักษณ์ และภูมิใจร่วมกันว่าเป็นประชาชนในชุมชนอาเซียน ทำให้การพัฒนาของอาเซียนห่างไกลจากภาคประชาสังคมที่แท้จริงและไม่ได้สร้างดุลยภาพทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่ประชาชนของอาเซียน

การสร้างการแข่งขันด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมามีแนวทางที่จะแข่งขันกันลงเหว คือแข่งกันในเรื่องการมีค่าแรงที่ต่ำสุด ให้สวัสดิการสังคมที่ต่ำสุด ไม่สนใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา ไม่ต้องมีมาตรฐานแรงงานตามหลักสากล เพื่อลดต้นทุนการผลิต และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ผลของการพัฒนาในทิศทางนี้ทำให้ประชาชนในอาเซียนมีการเติบโตที่ไม่เท่าเทียมกัน มีการเอาเปรียบกันเองภายในแต่ละประเทศ ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยสูงขึ้นมาก คนที่จนมีรายได้เฉลี่ยประมาณปีละ 209 อเมริกันดอลลาร์(หรือประมาณ 7,000 บาท) ส่วนคนที่รวยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ
300,000 อเมริกันดอลลาร์ (หรือประมาณ 10 ล้านบาท)

ดร.สุรินทร์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจากรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่จัดทำขึ้นในการประชุมที่กรุงลิสบอน
ประเทศโปรตุเกส พบว่าที่กระแสโลกาภิวัตน์ยังมีการขยายตัวที่รวดเร็วและรุนแรง มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นมาก ในขณะเดียวกันช่องว่างต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นมากด้วยเช่นกัน ความเป็นธรรม และความเท่าเทียมในสังคมมีความก้าวหน้าน้อยมาก
โดยเฉพาะสังคมอาเซียน

ประเด็นที่สำคัญที่เกิดขึ้น คือสภาพการจ้างงานที่เปลี่ยนไป เศรษฐกิจภาคนอกระบบเติบโตขึ้นมาก มีแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติเกิดขึ้นมาก แรงงานเหล่านี้ไม่มีสถิติที่แน่นอน ไม่มีสวัสดิการสังคมไม่มีการต่อรองร่วมกัน แต่แรงงานเหล่านี้ได้มีส่วนในการสร้างความเติบโตและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และที่สำคัญโครงข่ายความมั่นคงทางสังคมที่จัดให้สำหรับแรงงาน เหล่านี้มีความก้าวหน้าน้อยมากทั้งการบริการทางสุขภาพ และการคุ้มครองทางสังคมอื่นๆ หลักการงานที่มีคุณค่าขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่จะช่วยให้มั่นใจว่าการเคลื่อนตัวของกระแสโลกาภิวัตน์เป็นไปอย่างเป็นธรรมนั้นไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากฝ่ายปกครอง ซึ่งถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ความทุกข์ยากของแรงงานเหล่านั้นก็จะส่งผลกลับมาเป็นความทุกข์ยากของพวกเราทุกคน

สิ่งสำคัญที่ดร.สุรินทร์ปิดท้ายการพูดคุยในวันนั้นคือ ในระยะต่อไปการพัฒนาด้านสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียนจะช่วยให้อาเซียนสามารถรวมกันได้เข้ม แข็งขึ้น ถ้าสังคมขาดเสรีภาพ และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน สังคมก็สิ้นหวัง ความก้าวหน้าที่เกิดจากกระแสโลกาภิวัฒน์ นั้นก็ไม่มีความหมาย เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่
ทกวันนี้เราทุกคนไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวได้ ดังนั้นตัวเขาเองในฐานะเลขาธิการอาเซียนก็ไม่สามารถแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นได้โดยลำพัง พี่น้องแรงงาน นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนต้องมาช่วยกันสร้างเครือข่ายธรรมมาภิบาลให้เกิดขึ้นเพื่อร่วมกันทำงานให้เกิดความเท่าเทียมแก่ประชาชนซึ่งมีความหลากหลายของสังคมอาเซียน

จากความคิดเห็นของดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ Christopher Ng เลขาธิการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ของ UNIAPRO ได้เสนอต่อที่ประชุมในวันนั้นว่า ถ้าคนงานในอาเซียนมุ่งหวังที่จะเห็นชีวิตที่ดีกว่า และได้รับสิทธิด้านแรงงานเท่าเทียมกันกัน
ทุกคนก็ต้องมาช่วยกันผลักดันให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เอื้อต่อการ ลงทุนที่ดี และ มีสันติสุขร่วมกัน ต้องสร้างให้แรงงานมีความสมานฉันท์ และเป็นหุ้นส่วนทางสังคมอย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังต้องช่วยกันผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ยอมรับกับทิศทางการพัฒนาเช่นนี้ โดยยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสหภาพแรงงานและบริษัท ในขณะเดียวกัน สหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องควรจะมีเวทีหารือกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแบ่งปันข้อมูลและร่วมกันแสวงหาแนวทางที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้