ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อแรงงานนอกระบบในประเทศไทย

จาก 37.5 ล้านคนของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดในประเทศไทย เกินครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ

ชีวิตของแรงงานนอกระบบก่อนโควิด-19 ต้องเผชิญกับการไร้ความคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมจากการทำงานอยู่ก่อนแล้ว การศึกษาของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (HomeNet) และมูลนิธิ ฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย พบว่า ความไม่มั่นคงในอาชีพของแรงงานนอกระบบ ถูกซ้ำเติมอย่างหนักจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรูปแบบการทำงาน และเศรษฐกิจของครอบครัวของแรงงานนอกระบบแต่ละอาชีพ

ปกติแล้วเวลามีวิกฤตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น แรงงานนอกระบบมักจะเป็นอาชีพที่รองรับผู้ถูกเลิกจ้างงานและผู้ที่ได้ผลกระทบอยู่เสมอ แต่วิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา เพราะในขณะที่โควิด-19 ยังไม่จากเราไป บริบทและความท้าทายใหม่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศและระหว่างประเทศ บริบททางสุขภาพและอาชีวอนามัย สังคม และวัฒนธรรมความปกติใหม่ของผู้คน ทำให้กลุ่มแรงงานนอกระบบต้องเผชิญกับความเสี่ยง และความยากลำบากอย่างที่ไม่เคยคาดการณ์มาก่อน

ตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชีวิตแรงงานนอกระบบเป็นอย่างไร พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างไรบ้าง และที่สำคัญพวกเขาต้องการความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อที่เราจะสามารถเดินต่อไปข้างหน้าด้วยกันได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ชวนฟังเรื่องราวของตัวแทนแรงงานนอกระบบจากหลากหลายกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

กลุ่มผู้ทำการผลิตและรับงานไปทำที่บ้าน: แม้วันหนึ่งโควิดจะหมดไป แต่ก็ไม่รู้จะไปต่ออย่างไรหากเศรษฐกิจไม่ฟื้นในเร็ววัน

“นายจ้างเราไม่มีงานให้ทำ งานเขาไม่มีคนสั่ง ขายไม่ได้ งานที่ส่งมาก็มีน้อยมากจนถึงขั้นไม่มีเลย รายได้ของเราช่วงนั้นก็เท่ากับศูนย์ เราก็เลยต้องหาอะไรทำเฉพาะหน้าไปก่อน”

อำนวย สุธาพจน์ ประธานกลุ่มตัดเย็บเครื่องหนัง ต.นางแก้ว อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เล่าให้เราฟัง เธอต้องเปลี่ยนอาชีพมาขาย
ล็อตเตอรีชั่วคราว ในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มกระจายกันไปทำงานก่อสร้าง บ้างเสียบปลาหวาน รับจ้างรายวันให้พอมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อหลายปีก่อน คนงานจากโรงงานเครื่องหนังต้องย้ายกลับมาอยู่บ้าน เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น เจ้าของโรงงานเดิมจึงส่งงานตัดเย็บกระเป๋ามาให้ทำที่บ้าน เกิดการรวมเป็นกลุ่มตัดเย็บเครื่องหนัง ต.นางแก้ว ที่ทำงานกันมากว่า 20 ปี รายได้ของแรงงานทำการผลิตและรับงานไปทำที่บ้านอย่างกลุ่มของอำนวยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศตลอดมา อำนวยเล่าว่าช่วงที่เศรษฐกิจดี ขายเครื่องหนังได้มาก สมาชิกในกลุ่มเคยมีรายได้ 15,000-20,000 บาท แม้จะหักค่าใช้จ่ายในบ้านทั้งหมดแล้วก็ตาม

ก่อนโควิดจะมา พวกเขาและเธอต้องเผชิญกับผลกระทบจากการอิทธิพลการค้าของประเทศจีนที่ค่าแรงและต้นทุนถูกกว่า เมื่อเศรษฐกิจในประเทศไม่ดีนัก เถ้าแก่จึงเลือกสั่งงานจากจีนที่ราคาถูกกว่าฝีมือคนไทย ส่งผลทำให้ลูกจ้างตัดเย็บกระเป๋าที่บ้านหลายคนไม่ถูกจ้างงานต่อ ความลำบากนี้ถูกซ้ำเติมด้วยพิษโควิดและนโยบายของภาครัฐที่ไม่มีเบาะรองรับแรงกระแทกให้แรงงานนอกระบบ ทุกวันนี้อำนวยและสมาชิกในกลุ่มต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว บ้างเปลี่ยนอาชีพ บ้างย้ายมาอยู่รวมกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย บ้างขายอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อความอยู่รอด บ้างต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบ

สิ่งที่อำนวยและสมาชิกในกลุ่มต้องการ นอกจากความรู้ในการเปลี่ยนอาชีพแล้ว เธอยังต้องการเงินลงทุนซื้ออุปกรณ์เพื่อให้งานใหม่สามารถเป็นไปได้จริง เพราะแม้ว่าวันหนึ่งโควิดจะหมดไป เธอยังมองไม่เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยจะฟื้นกลับคืนได้ในเร็ววันเมื่อถามว่าอยากฝากอะไรไปถึงภาครัฐ อำนวยบอกว่า “อยากให้ช่วยคนรากหญ้าให้มากๆ หน่อยค่ะ ทุกจังหวัดเดือดร้อนกันหมดไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม อยากให้ช่วยทุกคนเท่ากัน จะได้มีอยู่มีกินเหมือนกัน”

บรรยากาศช่วงโควิด-19 ของร้าน ‘แดงบาร์เบอร์’ ในตัวเมืองจังหวัดมหาสารคาม เงียบเหงา สองสามีภรรยาช่างตัดผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการรอลูกค้าที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเปิดประตูเดินเข้ามา

กลุ่มเสริมสวย: นั่งรอ นอนรอ ให้ลูกค้ากลับมาเหมือนเคย

“เงียบมากจริงๆ ต้องทนอยู่และต้องอยู่ทน เพราะเราก็ไม่รู้จะไปประกอบอาชีพอะไรกัน”

‘ช่างแดง’ หรือ สงคราม ทองการี กรรมการชมรมแต่งผม-เสริมสวย เมืองมหาสารคาม เล่าให้ฟังว่า ก่อนโควิดจะแพร่ระบาด ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ช่างทั้งสองคนแทบจะไม่มีเวลากินข้าวเลย ต้องวิ่งไปแอบกิน ลูกค้านั่งรอกันอยู้ขางนอกบ้าง ข้างในบ้าง

“แต่ก่อน วันหนึ่งสิบหัวได้แน่นอน แต่ทุกวันนี้ หัวเดียวสองหัวยังจะยากเลย เงียบมากจริงๆ เราก็นั่งรอ นอนรอ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน”

อาชีพช่างตัดผมและร้านเสริมสวยรับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการรับมือโควิด-19 ของรัฐบาลที่กำหนดให้ประชาชนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม โดยออกระเบียบให้ปิดสถานที่ที่อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค หนึ่งในนั้นคือร้านตัดผมและร้านเสริมสวยที่ต้องปิดบริการ แม้จะขาดรายได้ แต่รายจ่ายอย่างค่าเช่าร้านยังคงเป็นภาระที่พวกเขาต้องรับผิดชอบ ช่างแดงบอกว่าครอบครัวของตัวเองอาจจะโชคดีกว่าคนอื่นๆ เพราะครอบครัวไม่ใหญ่ เลี้ยงกันเองแค่สามีภรรยาและหลานอีกหนึ่งคน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เดือดร้อน เพราะค่าเช่าร้านยังคงอยู่ แถมค่ารถก็ยังต้องผ่อนส่ง ที่พอทำได้ทุกวันนี้คือการเน้นประหยัดเรื่องอาหารการกิน

เมื่อรัฐบาลออกมาตรการผ่อนปรนให้ร้านเสริมสวยสามารถเปิดให้บริการได้ โดยมีเงื่อนไขว่า ร้านจะต้องจัดหาอุปกรณ์เพิ่มเติมให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมอนามัย เช่น การสวมเสื้อคลุม ใส่หน้ากากผ้าหรือ สวม face shield และใส่ถุงมือยางตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ที่ร้านแดงบาร์เบอร์ แม้จะมีแอลกอฮอล์บริการลูกค้า มีป้ายที่สร้างความมั่นใจว่าทั้งลูกค้าและช่างจะสวมใส่หน้ากากทุกครั้งที่ให้บริการ แต่ก็ไม่ได้ทำให้มีลูกค้ากลับมาใช้บริการเหมือนเมื่อก่อน

“ร้านผมเมื่อพ้นช่วงล็อกดาวน์ ลูกค้าเก่าๆ ก็กลับมา มีหายไปประมาน 10 เปอร์เซ็นต์ อาจจะย้ายที่อยู่ หรือว่าให้เมียตัดให้ เพราะในช่วงล็อกดาวน์คนสั่งซื้ออุปกรณ์ตัดผมกันจากทางอินเทอร์เน็ต รายได้เราก็หายไปด้วย”

เมื่อถามว่าอยากให้ทางภาครัฐช่วยอะไร สงครามตอบว่า เขาและภรรยาส่งเงินมาตรา 40 เดือนละ 300 บาท แม้รัฐจะช่วยออก 120 บาท แต่ระยะเวลาในการช่วยเหลือจำกัด หากเป็นไปได้เขาอยากขอให้ภาครัฐช่วยออก 200 บาท ยาวไปจนกว่าโควิดจะหายไป

กลุ่มคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง: ไวรัสและเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก(ทัศน์) วินมอเตอร์ไซค์ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด

เรานัดเจอ เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ที่ร้านวิสาหกิจชุมชนวินลาดพร้าว 101 ภาพเขากำลังจัดสต็อกสินค้าในร้าน กลายเป็นภารกิจประจำวันตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เขาตัดสินใจมารับหน้าที่ตรงนี้ ด้วยหวังว่า เมื่อขาดเขาไปสักหนึ่งคน เพื่อนพี่น้องวินที่วิ่งในซอยจะมีโอกาสรับผู้โดยสารได้มากขึ้น

เฉลิมไม่ใช่คนเดียวในกลุ่มที่เปลี่ยนอาชีพ เกือบครึ่งหนึ่งของสมาชิกวินมอเตอร์ไซค์ซอยลาดพร้าว 101 ตัดสินใจกลับไปทำไร่ทำนาที่บ้านเกิดในต่างจังหวัดเพื่อลดภาระการใช้จ่ายของชีวิตในเมืองหลวง

“แม้วินที่วิ่งอยู่ทุกวันนี้หายไปเกือบครึ่งหนึ่ง แต่พวกเราก็ไม่มีรายได้เพิ่ม เพราะแม่ค้าและคนที่นั่งวินไปทำงานมันไม่มีแล้ว ทุกวันนี้เรารับแค่คนในชุมชนไปใกล้ๆ วันหนึ่งได้ร้อยกว่าบาทก็ถือว่าโชคดีแล้ว พอได้ซื้อข้าวกินไปวันๆ”

ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูหลายปากท้อง รายได้ที่ลดลงเกินครึ่งย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวตและเศรษฐกิจของครอบครัว

“คนขับวินเองใช้บริการเงินกู้นอกระบบก็เยอะ ไหนจะต้องหาเงินส่งดอกเบี้ยรายวัน ไหนจะต้องส่งให้ลูกไปโรงเรียน ไหนจะต้องดูแลค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ มันหนักมากนะครับตอนนี้”

เฉลิมเล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้คนไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ต้องพบปะผู้คนอยู่ตลอดเวลา อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น นอกจากนี้ การใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ที่เทคโนโลยีเข้ามามีความสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ส่งผลกระทบกับกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์โดยตรงเช่นกัน  ก่อนยุคโควิด-19 วินมอเตอร์ไซค์ได้รับผลกระทบจากบริษัทแพลตฟอร์มอยู่ก่อนแล้ว การสั่งอาหารผ่านบริการเดลิเวอรีของบริษัทแพลตฟอร์มที่เพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์จึงเป็นสัญญาณบอกว่า ถึงเวลาที่วินมอเตอร์ไซค์จะต้องลุกขึ้นมาใช้เทคโนโลยีเช่นกัน แต่เฉลิมมองว่า สำหรับเพื่อนร่วมอาชีพหลายคน นี่ไม่ใช่ก้าวต่อไปที่ทำได้ง่ายหากไม่มีความช่วยเหลือจากภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ ที่มีทรัพยากรมากกว่า

“พวกเราคิดว่าหลังจากโควิดไปแล้ว สิ่งที่ควรทำเลยคือ วินจะต้องมีแพลตฟอร์ม สังคมเปลี่ยน การสัญจรเปลี่ยน โลกทัศน์เปลี่ยน มือถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการยกระดับทุกอาชีพ ไม่ใช่เฉพาะวินมอเตอร์ไซค์ เวลามีคนสั่งอาหารจากร้านในชุมชน วินก็สามารถวิ่งไปส่งให้ได้ นี่มันเป็นการเชื่อมต่อที่ผมคิดว่าพวกเรากันเองไม่สามารถที่จะลงทุนเองได้”

กลุ่มร้านนวด: ถูกปิดก่อนใคร แม้จะได้เปิดใหม่ แต่ต้องรอเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวฟื้นตัว

“ปิดสามเดือนนะคะ ถามว่าเอาอะไรกิน? คำสั่งปิดน่ะมันง่าย แต่คุณมีอะไรที่จะมารองรับการสั่งปิด?”

ปาณิสรา อดิเรกลาภนุกูล หมอนวดแผนไทยเพื่อรักษาสุขภาพ นั่งคุยกับเราในร้านนวดของเธอ ‘หมอนวด’ อาชีพที่เคยทำเงินได้ดีในวันที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเมืองไทยไม่ขาดสาย กลับต้องปิดนานหลายเดือน หลายรอบ เมื่อทำงานไม่ได้ รายได้เป็นศูนย์ หลายคนถอดใจกับการรับมือโควิด-19 ของรัฐบาล

“ที่ปิดไปสามเดือน บางคนก็ซึมเศร้าไปเลยค่ะ เพื่อนหมอนวดด้วยกัน น้องๆ จากสุขุมวิทเขาร้องไห้ ไม่มีเงินให้ลูกกิน เงินก็ไม่มี ส่วนมากจะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวกัน ตัวเองเป็นเสาหลัก ให้ย่า ให้ยาย แล้วก็ต้องมีค่าใช้จ่ายของตัวเอง ไหนจะค่าเช่าห้อง เจ้าของเขาไม่ได้สนใจนี่ เขาสนใจแค่ว่าฉันจะต้องมีค่าเช่าห้อง ก็ต้องออก”

นอกจากคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ยังมีหมอนวดที่เดินบนเส้นทางเดียวกันกับปาณิสรา เปิดร้านนวดและทำอาชีพหมอนวดเป็นแหล่งรายได้สำหรับชีวิตหลังวัยเกษียณ อาชีพหมอนวดเป็นงานที่สั่งสมทักษะมายาวนาน และเป็นงานอิสระที่พวกเธอรัก นอกจากนี้ แม้จะเกษียณแล้ว หลายคนยังคงมีภาระหน้าที่ต้องดูแลคนอื่นๆ ในครอบครัว รวมถึงผ่อนจ่ายหนี้ที่ยังมีอยู่ต่อไป

แม้รัฐบาลจะมีนโยบายผ่อนปรนให้ร้านนวดกลับมาเปิดให้บริการได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิมในทันที ร้านนวดยังต้องพึ่งพิงการท่องเที่ยวและลูกค้าต่างชาติโดยตรง ปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงจึงส่งกระทบต่อเนื่องถึงผู้ประกอบการและเจ้าของร้านนวด ส่งผลให้พนักงานนวดบางส่วนต้องเปลี่ยนไปรับงานด้วยตนเอง ไปจนถึงเปลี่ยนอาชีพ ตรงกับที่ปาณิสราเล่าประสบการณ์การดิ้นรนหารายได้เสริมของเธอในช่วงที่ผ่านมา

“บางร้านที่เราไปทำ ลูกค้าเข้ามาคนเดียวเองนะต่อวัน เขาต้องจ่ายค่าประกันมือเรา หมอนวดสองคนก็ 700 บาทแล้ว ไหนจะค่าแอร์ ค่าเช่า แม้คุณจะเปิดครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ครั้งที่สี่ มันไม่ได้ช่วยอะไรหมอนวดเลย กระเตื้องขึ้นนิดนึง แล้วก็ตกลงไปอีก เพราะฐานจริงๆ คือเศรษฐกิจ คนไม่มีเงินจะมานวด เอ้อ เอาไว้ก่อน นอกจากจะปวดจะเจ็บจริงๆ”

เมื่อถามว่าความช่วยเหลือแบบไหนจึงจะช่วยกลุ่มหมอนวดได้ ปาณิสราตอบว่า ในระยะสั้น การหางานมาให้กลุ่มหมอนวดเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การจ้างงานแบบเฉพาะกิจให้เข้าไปนวดให้กับคนในองค์กรต่างๆ หรือการหาแพลตฟอร์มช่วยเชื่อมต่อลูกค้ากับหมอนวด โดยมีการรับรองว่า หมอนวดที่อยู่ในระบบได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเพื่อสร้างความสบายใจให้กับลูกค้า ในขณะเดียวกันหมอนวดสามารถประเมินค่าแรงและค่าตอบแทนที่จะได้รับผ่านแพลตฟอร์มได้ เพื่อตัดสินใจว่าจะรับงานหรือไม่

ส่วนความต้องการที่เธอต้องการในระยะยาว คือการปรับเปลี่ยนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของแรงงานนอกระบบ ที่ยังติดเรื่องการไม่มีผู้ว่าจ้างและผู้รับรอง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย: มาตรการโควิดของรัฐอาจไม่ได้มีประสิทธิภาพในการช่วยให้ขายของได้เสมอไป

“รถพ่วงข้างจอดขี้ฝุ่นเกาะหนา พ.ร.บ.หมด จะไปต่อก็ไม่มีเงิน”

ภัคนันท์ นพรัตน์ หรือ ‘ป้าเล็ก’ แม่ค้าหาบเร่แผงลอย จ.สงขลา ให้เราดูรถพ่วงคันเก่งที่จอดทิ้งไว้หน้าบ้านเนื่องจากเธอไม่สามารถไปขายของที่ตลาดได้เหมือนเคย

ก่อนโควิด-19 แม่เลี้ยงเดี่ยวผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวอย่างป้าเล็ก จุนเจือครอบครัวดูแลลูกสองคนด้วยการขายของทานเล่น ทั้งกุ้งทอด เต้าหู้ทอด และขนมพื้นบ้านที่เรียกว่า ‘ขนมหวัก’

“คนกำลังซื้อก็ไม่มี ออกไปขายก็ไม่ได้ ไม่คืนทุน ก็เลยหงุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อครอบครัวมาก”

แน่นอนว่าตลาดเปิดย่อมดีกว่าการถูกสั่งปิด แต่แม้บางครั้งหน่วยงานท้องถิ่นจะอนุญาตให้เปิดขายในตลาดได้ ข้อจำกัดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มักจะสร้างความรำคาญและความไม่สะดวกให้กับลูกค้าที่จะมาเดินตลาด ป้าเล็กยกตัวอย่างตลาดที่เธอขายอยู่ที่บังคับให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเธอเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่เมื่อมีคนลืมสวมใส่มา น้อยคนที่จะซื้อหน้ากากเพื่อใส่แล้วเข้ามาในตลาด หรือยอมเดินทางกลับไปบ้านเพื่อสวมหน้ากากแล้วกลับมาเดินตลาดอีกครั้ง ทำให้มีลูกค้าเดินตลาดน้อยลง ลดโอกาสที่จะขายของได้ กรณีนี้ป้าเล็กมองว่า หน่วยงานรัฐควรจะมีหน้ากากอนามัยสำรองไว้ให้กับประชาชน

ทั้งมาตรการลดการแพร่ระบาด พื้นที่ขายและเวลาที่จำกัด ล้วนส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้ามักต้องเจอกับปัญหาที่ป้าเล็กบอกว่า ลงทุนไปครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่ได้ทุนคืน

“ถ้าถามว่าป้าเล็กมีเงินเก็บไหม ไม่มีหรอกค่ะ หนี้สินทั้งในระบบนอกระบบที่ยืมมาก็ไม่ได้ส่งเขา ถามว่าเข้าถึงความช่วยเหลือของรัฐไหม เข้าถึงม.40 และบัตรประชารัฐ แต่ถามว่าห้าพันบาทถัวเฉลี่ยแล้วได้วันละร้อยกว่าบาท ไหนจะค่าน้ำ ค่าไฟ และค่ากินแต่ละวัน มันก็ไม่พอหรอกค่ะ”

แม้แต่เงินเยียวยาจากรัฐบาลที่ได้มา นอกจากจะไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว บางครั้งยังถูกเจ้าหนี้ทักมาว่า เงินที่ได้จากรัฐมาควรเอามาจ่ายหนี้นอกระบบคืนก่อน ทุกวันนี้ป้าเล็กอาศัยทำอาหารส่งตามสั่ง เธอบอกว่าอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนกู้ยืมในระบบ

“อยากให้รัฐและหน่วยงานต่างๆ ผ่อนปรนให้กลุ่มแม่ค้าหาบเร่แผงลอย บางคนเขาเข้าไม่ถึงจริงๆ เพราะต้องมีคนค้ำประกัน ต้องมีหลักทรัพย์ พื้นฐานชีวิตคนเราไม่เท่ากัน อยากให้เห็นใจคนกลุ่มนี้ด้วย เพราะที่ผ่านมาป้าเล็กเองก็เข้าไม่ถึง คนจนๆ อย่างเราจะไปพึ่งพาคนทำงานราชการให้ค้ำประกันให้เราได้ไหม เขาก็ไม่กล้าค้ำให้เราใช่ไหม”

กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย: ไม่มีอะไรดีไปกว่าวัคซีน และการได้กลับไปขายของอีกครั้ง

“ปกติเราขายอยู่ที่ถนนคนเดิน ตลาดนัด ทุกเสาร์อาทิตย์เราเคยได้ขายของ พอเป็นช่วงโควิดเราขายของไม่ได้ รายได้เราก็ลดลง ก่อนโควิดเราเคยสามารถกู้เงินมาซื้อบ้านได้ เราคุยกันว่าเราอยากมีบ้านของตัวเอง จะได้ไม่ต้องเช่าเขาทุกเดือน พอเกิดโควิดขึ้นมา ทุกอย่างมันก็จบ ติดลบกันไปหมด”

กรรรณิการ์  แรกข้าว หนึ่งในสมาชิกชมรมผู้ประการถนนคนเดิน เทศบาลนครเชียงราย จองพื้นที่ขายของไว้ในตลาดสดใกล้บ้านเมื่อรัฐบาลเริ่มผ่อนปรนให้ขายของได้ เธอบอกว่าเธอโชคดีที่ลงมือทันเวลา เพราะพื้นที่อันจำกัดในตลาด ไม่ได้มีโควตาเช่าแผงให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่สามารถขายของนักท่องเที่ยวบนถนนคนเดินได้ทุกคน

แต่การเช่าแผงขายของในตลาดสดก็ไม่ได้ช่วยให้สภาพเศรษฐกิจของครอบครัวกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง อัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำส่งผลต่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของทั้งคนขายและคนซื้อ นอกจากจะต้องเสี่ยงกับการติดโควิดจากผู้คนในตลาดแล้ว กรรณิการ์พบว่า ผู้คนมีกำลังซื้อน้อยลง

“เราก็หาวิธีแก้ไขด้วยการพยายามตามกระแสตลาด นำหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์มาขาย แต่จะให้เราได้กำไรเยอะเหมือนเมื่อก่อน มันไม่ใช่แบบนั้น ทุกอย่างมันน้อยลง จากเมื่อก่อนเราขายของ เราคิดว่าสินค้าชิ้นนี้เราจะได้กำไร 25-30% แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ ชิ้นนึงขอให้เราได้ 5 บาท เพื่อพยุงให้ตัวเราอยู่ได้และครอบครัวของเราอยู่ได้”

พ่อค้าแม่ค้าหลายคนปรับตัวไปขายของผ่านแพลตฟอร์มในโลกออนไลน์ แต่ไม่ใช่คนขายของทุกคนที่พร้อมจะเดินบนเส้นทางนี้ เมื่อยากที่จะปรับตัว แพลตฟอร์มเหล่านั้นจึงกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของกรรณิการ์ แน่นอนว่าในเรื่องราคา เธอสู้สินค้าราคาถูกมากบนแพลตฟอร์มต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้ จึงต้องอาศัยขายไปเท่าที่พอมี และเน้นกินอยู่อย่างประหยัดเพื่อไม่ก่อหนี้สินให้มากไปกว่าเดิม

เมื่อถามว่าเธอต้องการความช่วยเหลืออย่างไร กรรณิการ์บอกว่า การมีวัคซีนที่เข้าถึงได้อาจจะช่วยให้เธอได้กลับไปขายของอีกครั้ง

“ยาเราก็ไม่ได้ฉีดครบ พ่อค้าแม่ค้าเขาต้องการฉีดวัคซีนนะคะ แต่บางทีมันเข้าไม่ถึงเรา ส่วนเรื่องเงินช่วยเหลือ ทุกคนก็ต้องการอยู่แล้วใช่ไหม แต่เราคนธรรมดาบางทีกว่าจะลงทะเบียนได้ ไม่ทันเขา ถ้ามีวัคซีนฉีดกันมันอาจจะเบาลง และเราก็จะได้มีโอกาสกลับไปขายของ”

กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน: อาชีพที่ขึ้นอยู่กับความเมตตาของนายจ้าง อายุ และวัคซีน

“เมื่อก่อนที่เราไม่เคยมีตัวตนในสังคม ไม่มีสวัสดิการ บางคนแทบไม่มีวันหยุด จะมีวันหยุดก็ต่อเมื่อนายเมตตา”

แม้ในช่วงเวลาก่อนโควิด-19 ลูกจ้างทำงานบ้านเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ต้องเผชิญกับความท้าทายและความเปราะบางในอาชีพมาโดยตลอด เป็นที่มาของการรวมกลุ่มจัดตั้งเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย เพื่อสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ยอมรับ และมองเห็นตัวตนของลูกจ้างทำงานบ้านมากขึ้น โดยมีมาลี สอบเหล็ก เป็นประธาน

ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลูกจ้างทำงานบ้านได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการทำงาน หลายคนต้องคอยตอบคำถามของนายจ้างว่าไปไหนมาบ้างอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากนายจ้างกลัวติดเชื้อโควิด-19 บางคนต้องย้ายเข้าไปอยู่บ้านนายจ้าง ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ มาลีบอกว่าส่วนใหญ่จะต้องเป็นผู้หญิงที่ไม่มีครอบครัว ในส่วนของเธอที่มีครอบครัวให้ต้องกลับมาดูแล มาลีต้องลงทุนซื้อรถมอเตอร์ไซค์แทนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพื่อซื้อความสบายใจให้นายจ้าง

กรณีที่นายจ้างชาวต่างชาติตัดสินใจย้ายกลับประเทศในช่วงโควิด-19 การหางานใหม่สำหรับลูกจ้างทำงานบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากอายุที่มากขึ้นจะเป็นอุปสรรคในการหางานแล้ว โควิด-19 ทำให้นายจ้างไม่มั่นใจในความปลอดภัยที่จะจ้างลูกจ้างคนใหม่เข้าไปทำงานในบ้าน โดยเฉพาะในบริบทการฉีดวัคซีนของไทยที่ยังไม่ทั่วถึงครอบคลุม

“นายจ้างที่เราไปสมัครหลังจากที่นายจ้างเก่าเรากลับประเทศไป เขาจะถามตลอดเวลาว่าคุณได้รับวัคซีนหรือยัง ซึ่งตอนนั้นวัคซีนในประเทศไทยมันเป็นอะไรที่เราเข้าไม่ถึง เราเข้าไปจองในแอปฯ ของรัฐบาลแล้วก็ถูกเลื่อน เราเห็นเลยว่าวัคซีนมีความสำคัญมากที่จะทำให้การทำงานของเราไม่ขาดตอน”

ในวัย 47 ปีที่การทำงานขาดตอนมาแล้วกว่าสี่เดือน มาลีบอกว่า หากยังหางานไม่ได้ เธออาจจะไม่สามารถอยู่กรุงเทพฯ ได้อีกต่อไป คำถามที่อยู่ในใจของเธอเป็นสิ่งที่ลูกจ้างทำงานบ้านจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะคนที่อายุ 40 ขึ้นไปเฝ้าถามตัวเอง

“ถ้าตกงานต่อไปอาจจะต้องย้ายกลับไปอยู่ต่างจังหวัดเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่เราต้องเริ่มต้นใหม่หมดเลย ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นแล้วกลับมา อายุวัย 47 ปี เราจะมาหางานได้เป็นลูกจ้างทำงานบ้านเหมือนเดิมหรือเปล่า ตลาดจะยังต้องการคนอายุอย่างเราไหม แล้วเรากลับไปต่างจังหวัดเราจะกลับไปทำอะไรในวัย 47 ปี ไปทำนาไหวเหรอ ถามตัวเอง ไปทำสวน ไหวไหม?”

เมื่อถามเรื่องความช่วยเหลือที่ผ่านมา มาลีบอกว่าลูกจ้างทำงานบ้านแทบจะไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทของรัฐบาลเลย เนื่องจากเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีตัวตน บางคนไม่มีสมาร์ทโฟนและมีข้อจำกัดเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการลงทะเบียน เธออยากให้รัฐบาลช่วยผ่อนปรนเรื่องค่าใช้จ่ายและการพักชำระหนี้ ที่เธอมองว่าจะช่วยแรงงานนอกระบบได้ถ้วนหน้า

ที่ผ่านมากลุ่มของเธอสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาชื่อว่า Homecare Thailand เป็นแพลตฟอร์มที่ยังอยู่ในช่วงพัฒนา มาลีบอกว่า ผลระทบโควิดทำให้รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไปแน่นอน นายจ้างไม่ต้องการจ้างให้คนเข้าไปอยู่ในบ้านของตัวเองตลอด จาก 8-10 ชั่วโมงที่เคยจ้างอาจจะลดลงเหลือแค่ 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังเป็นแพลตฟอร์มไว้รองรับลูกจ้างทำงานบ้านที่อายุมากแล้วแต่ยังแอกทีฟและอยากทำงานอยู่ แม้จะมีเสียงตอบรับดีพอสมควร แต่ในช่วงที่ไม่รู้ว่าโควิดจะหมดไปเมื่อไหร่ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังกังวลที่จะจ้างใครสักคนเข้าไปในบ้านของตัวเอง