8 หญิงแกร่ง กับ 8 เสียงจากผู้หญิงฐานราก

จากผลการสำรวจจำนวนแรงงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 พบว่า ในจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 37.5 ล้านคน  เป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือ ไม่มีหลักประกันทางสังคม  ที่เรียกว่าแรงงานนอกระบบ 20.4 ล้านคน  หรือร้อยละ 54.3  และที่เหลือเป็นแรงงานในระบบ  17.3 ล้านคน  หรือคิดเป็นร้อยละ 44.7  สำหรับแรงงานนอกระบบเมื่อพิจารณาตามเพศ จะพบว่าจำนวนเพศชายมีมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย คือเป็นเพศชายร้อยละ 55.7  และเป็นเพศหญิงร้อยละ  44.3  ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด  หรือมีแรงงานหญิงนอกระบบจำนวนทั้งสิ้น 9,037200 คน  

ที่ผ่านมาแรงงานนอกระบบหญิงทั้ง 9 ล้านคน มักถูกมองข้าม  พวกเธอไม่ได้รับสิทธิ และสวัสดิการ ตามที่แรงงานพึงได้   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 แรงงานนอกระบบหญิงซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางต้องเผชิญปัญหาหนักยิ่งขึ้น  เนื่องจากขาดหลักประกันในการประกอบอาชีพ   พวกเธอต้องพยายามดิ้นรน เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว  และยังต้องรับหน้าที่ในการดูแลสุขภาพให้กับคนใกล้ชิดเพิ่มขึ้นอีกด้วย   

ประกันสังคมถ้วนหน้า

ถ้ามีประกันสังคมถ้วนหน้า มันจะเป็นผลดีในอนาคต วัยแรงงานวันนี้จะเป็นผู้สูงอายุในวันหน้า เขาก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเงินบำเหน็จบำนาญไว้กินตอนแก่ ซึ่งจะได้ไม่ต้องรบกวนลูกหลาน อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กองทุนเพื่อฟื้นฟูอาชีพแรงงานนอกระบบ

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้กลุ่มแรงงานนอกระบบเปลี่ยนสถานะอาชีพจากผู้รับงานมาเป็นผู้ผลิตเองขายเอง เราเลยอยากมีกองทุนเพื่อฟื้นฟูอาชีพแรงงานนอกระบบ ปัจจุบันนี้มีสถาบันการเงินต่าง ๆ เช่น ธนาคารออมสิน ธกส. แต่ว่าแรงงานนอกระบบของเราเข้าไม่ถึง เข้ายาก มีเงื่อนไขที่ไม่สามารถเข้าไปใช้กองทุนธนาคารได้ แม้จะมีกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งคุ้มครองเฉพาะผู้รับงานมาทำที่บ้าน แต่กลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีอาชีพอื่น เช่น ช่างเสริมสวย หมอนวด หาบเร่แผงลอย มอไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ยังเข้าไม่ถึง  ในเมื่อไม่มีกองทุนที่จะทำให้แรงงานนอกระบบพวกนี้ได้เข้าไปใช้ ถึงมีก็ใช้ไม่ได้ พวกเราจึงต้องไปกู้เงินนอกระบบร้อยละ 20 บาท ทำให้แรงงานนอกระบบทำงานใช้หนี้มาตลอด ใช้หนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่จบไม่สิ้น 

ชายหญิงช่วยกันรับผิดชอบงานบ้าน

ในฐานะที่เราเป็นผู้หญิงที่ต้องดูแลทุกเรื่องในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานบ้าน งานที่ต้องมีรายได้ทำมาหากินด้วย ผู้ชายก็จะมองว่าเรื่องงานบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิง เราควรจะมาแบ่งงานแบ่งหน้าที่กันไหม ทุกคนอยู่ด้วยกัน มันเหมือนจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่ว่าจะแบ่งให้ผู้หญิงทำทั้งงานบ้าน งานที่มีรายได้ในครอบครัว ทำอาหารทุกสิ่งอย่าง เขาเป็นผู้ชายจะให้เขาอยู่เหมือนเป็นนายเราไม่ได้ บางคนอยู่บ้านอยู่เฉย ๆ ไม่ช่วยงานบ้านอะไรเลย กลับจากทำงานเราก็จะต้องหุงข้าว ทำความสะอาดบ้าน เช้าขึ้นมาก็ต้องรีบทำกับข้าว เพื่อที่ตัวเองจะออกไปหาเงินทำมาหากิน ผู้หญิงที่เป็นแรงงานนอกระบบก็เหมือนจะถูกเอาเปรียบ

เงินชดเชยรายได้ให้แก่แม่นอกระบบหลังคลอด

ติ๋วเคยทำงานอยู่ในโรงงาน พอพูดถึงสวัสดิการผู้หญิง โรงงานมีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน เรื่องสิทธิของผู้หญิง ทั้งเรื่องหญิงที่ท้อง การลาคลอด ลาป่วย ชั่วโมงการทำงาน สภาพการทำงานที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงที่ท้อง อันไหนที่เราคิดว่าน้อยเราก็ไปเรียกร้องกันในลักษณะนั้น แต่ด้วยจริง ๆแล้วสภาพโครงสร้างสังคมที่เราเห็นกันอยู่เนี่ย ผู้หญิงที่อยู่ในระบบก็จะมีค่าจ้างขั้นต่ำที่มีสภาพไม่ต่างอะไรกับแรงงานนอกระบบ แล้วก็ต่างกันตรงที่ว่าเขามีค่าจ้างประจำ แรงงานนอกระบบไม่มีค่าจ้างประจำเท่านั้น 

จริง ๆ คำว่าแรงงานนอกระบบมันมาจากการลดต้นทุนของนายทุน แล้วผู้หญิงก็เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ออกมาเป็นแรงงานตามห้องแถว คนเป็นแรงงานนอกระบบเราจะรู้ดีว่างานเราก็มีทำไม่สม่ำเสมอ ยิ่งช่วงโควิดจะเห็นว่าโควิดเข้ามาซ้ำเติมแรงงานนอกระบบของเราอย่างมากทุกสาขาอาชีพ บางคนอาชีพหายไปเลย บางคนล้มละลาย บางคนที่ย้ายถิ่นมาทำงานกรุงเทพก็ต้องกลับบ้านเกิด บางคนถูกโกง คนเย็บผ้างานลดลง 80% คนที่ผลิตเองขายเองก็ขายไม่ได้ก็เปลี่ยนไปขายอย่างอื่น แต่ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร 

รายได้เราไม่ได้มีประจำ พอพูดถึงผู้หญิงที่เป็นแรงงานนอกระบบยิ่งอยู่ในวัยทำงาน เมื่อท้องก็ลำบากอยู่แล้ว เวลาหลังคลอดยิ่งหนัก เราจะพบว่าเขาไม่สามารถหยุดเพื่อให้นมลูกได้ เพราะเขาไม่ได้มีสวัสดิการรองรับเหมือนผู้หญิงในโรงงาน ในโรงงานหลังคลอดเขาจะได้รับค่าจ้าง 90 วัน โดยได้รับค่าชดเชยจากประกันสังคม 45 วัน จากนายจ้าง 45 วัน ตอนนี้เหมือนเขาให้เพิ่มมา 8 วัน เราจะเห็นว่ารัฐบาลรณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ก็ไม่ได้พูดถึงความพร้อมของคนเป็นแม่ เพราะมันไม่มีอะไรรองรับ เมื่อสองวันก่อนเราเห็นรัฐบาลมาตำหนิคนไม่แต่งงานไม่มีลูก แต่ลุงก็ไม่เคยพูดถึงว่าคนมีลูกแล้วรัฐบาลจะสนับสนุนส่งเสริมอย่างไรให้เด็กเกิดมามีคุณภาพ ในเมื่อผู้หญิงแรงงานนอกระบบไม่มีเงิน ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงหลังคลอดเขาควรที่จะได้ใช้เวลาร่วมกันกับลูก ให้นมลูก เรียนรู้วิธีการดูแลลูก ถ้าคุณแม่ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพตนเอง จะเอาน้ำนมที่ไหนให้ลูกทาน 

เปิดโอกาสให้ผู้หญิงพัฒนาตนเอง

การที่ผู้หญิงเราจะเก่งต้องพัฒนาตัวเอง และเมื่อก่อนถ้าหากพูดถึงผู้หญิงต้องอยู่บ้าน ทำงานบ้าน เลี้ยงลูก อยู่กับบ้านอย่างเดียว แต่ตอนนี้เทคโนโลยีก้าวไกลแล้ว สังคมโลกข้างนอกก็เปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงเราต้องหันมาพัฒนาตัวเอง หาความรู้เข้าหาตัวเองให้มากขึ้น เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับสังคมที่จะเข้ามาใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ผู้หญิงเราสามารถเข้าสู่วิถีการเมือง การเป็นผู้นำปกป้องบ้านได้ อย่างเช่น การพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น การปฏิรูปตัวเองให้รู้ทันเทคโนโลยีมากขึ้น หนึ่งต้องรู้ทันเหตุการณ์บ้านเมือง รู้ข่าวสาร รู้ทันโลก การพัฒนาตัวเองเป็นสิ่งที่จะนำมาสู่การเป็นผู้นำของผู้หญิง การพัฒนาอาชีพ การส่งเสริมอาชีพ ผู้หญิงทำได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ถ้าเราเปิดใจให้ผู้หญิงก้าวมาทำงานระดับแนวหน้าได้ สิ่งที่ต้องการให้หน่วยงานมีส่วนร่วมเข้ามาสนับสนุนการทำงานของผู้หญิง คือ ให้ด้านพัฒนาเกี่ยวกับความรู้ และให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการสนทนาปัญหาต่าง ๆ ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมการแก้ปัญหาไม่ว่าบ้านเมือง การพัฒนาบ้านเมือง การทำงาน และการส่งเสริมอาชีพ ผู้หญิงเรามีความรู้ในตัวและมีความสามารถในตัวเอง อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของตัวเองและมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น อย่าปิดกั้นตัวเองจากสังคมภายนอก

เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า

ความเป็นผู้หญิง สิ่งที่ภูมิใจและสำคัญที่สุด คือ ความเป็นแม่ แม่ทุกคนที่ต้องการเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ผู้หญิงทุกคนไม่มีโอกาสที่เท่ากัน โอกาสของแต่ละคนมี แต่บางคนเข้าไม่ถึงโอกาส แต่ตอนนี้โอกาสดีที่เด็กบางคนได้รับเงินอุดหนุนเด็กที่มาจากโครงการเงินอุดหนุน แรกเกิดจนถึง 6 ปี สำหรับผู้มีรายได้น้อย เฉลี่ยแล้วมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จากเงื่อนไขนี้ทำให้เด็กเข้าถึงสิทธิแค่ 2 ล้านคน ในขณะที่เด็กในประเทศไทยมีอายุ 0-6 ปีมีถึง 4 ล้าน นั่นหมายความว่าเด็กอีก 50% ที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ คือ อนาคตของชาติ เขาก็เป็นอนาคตของชาติเหมือนกัน แต่เด็กกลุ่มนี้เขาเข้าไม่ถึงจะกลายเป็นเด็กที่ไม่เท่ากัน และเกิดความไม่เท่าเทียม

ผู้หญิงรากฐานส่วนมากเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว บางรายลำบากตั้งแต่ท้องเลย พอคลอดลูกมาก็ต้องอดทนทำงานเพื่อให้มีรายได้มาเพื่อจุนเจือลูกและเลี้ยงดูบุตร อาชีพต่าง ๆ ผู้หญิงบางคนคลอดได้ไม่ถึงเดือนต้องออกไปประกอบอาชีพ ไปขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไปล้างจาน เย็บผ้า ซึ่งตรงนี้จริง ๆ แล้วเขาต้องมีโอกาสเลี้ยงดูให้นมบุตร ให้ความอบอุ่นลูก

ศูนย์เด็กเล็กที่มีเวลาเปิดปิดสอดคล้องกับเวลาทำงานของแรงงานนอกระบบ

ดิฉันมีข้อเสนอต่อภาครัฐ ให้มีศูนย์พัฒนาเด็กอ่อนที่แม่ต้องทำงานหลังครบกำหนดคลอดบุตร เพื่อบรรเทาภาระให้กับพ่อแม่ และอยากให้ปรับช่วงอายุของศูนย์เด็กเล็กตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี จากเดิมรับตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และอยากจะขอให้รัฐบาลเข้าไปอุดหนุนเด็กในการพัฒนาและบริหารจัดการที่ดี ให้มีการครอบคลุมคุณภาพของศูนย์เด็กเล็ก ให้มีสภาพแวดล้อม อาหาร การพัฒนาทักษะวิชาการ ที่ดีสมบูรณ์ รวมถึงปรับเปลี่ยนเวลาเปิดปิดศูนย์เด็ก จากเดิมเปิดถึงบ่าย 3 โมง อาจจะเลื่อนเวลาเปิดอย่างน้อยถึง 5 โมงครึ่ง 

การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง

กี่ปีแล้วเรื่องของความรุนแรงต่อผู้หญิง ศตวรรษที่ 21 เรายังพูดถึงความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งจำปาคิดว่าไม่ควรจะเป็นแบบนี้แล้ว เรื่องของความรุนแรงต่อผู้หญิงเนี่ย จำปาเห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ จนวันนี้ 2 ปี 3 ปี ที่มีโควิด เศรษฐกิจแย่ลง ช่วงหลังนี้เนี่ย เราจะเห็นมากขึ้น มากกว่าหลายเท่าของที่เราเคยเห็นเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว จะเห็นว่าแรงงานข้ามชาติหรือผู้หญิงพี่ ๆ น้อง ๆ คนไทยก็ตาม

ทำไมช่วงหลัง ๆ ส่วนมากเราเจอผู้หญิงหัวแตก แขนหัก ขาหัก ต้องมีบาดแผลให้เห็น ถึงบอกว่าผู้หญิงคนนี้โดนทุบโดนตี แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ ช่วงหลัง ๆ เนี่ยเป็นเรื่องของจิตใจ เรื่องของเศรษฐกิจ มันเริ่มเยอะขึ้น

สมมติเราตกงานเราก็ถูกโดนว่าว่าไม่ยอมทำงาน หางานไม่ได้ พอสามีตกงาน เราเป็นคนที่ทำงาน สามีตกงานก็คือสามีเครียด ไม่ช่วย อารมณ์ของเขาจะแปรปรวนเพราะเขาตกงาน อันนี้ก็คือทำไมมาตกอยู่ที่ผู้หญิง เราตกงานก็โดน ถ้าสามีตกงานก็โดน แสดงว่าผู้หญิงอยู่ในภาวะที่แบบว่าเราจะรับอารมณ์ของเขาได้หรือเปล่า ไม่ใช่แค่สามี พี่น้องก็ด้วย เราคิดว่าช่วงเวลานี้แบบนี้เราไม่ควรที่จะมีแบบนั้นแล้ว ไม่ควรที่จะมีผู้หญิงถูกกระทำทางร่างกายและจิตใจแล้ว

แล้วก็ก่อนที่หน่วยงานของรัฐจะทำอะไรก็ตาม เราคิดว่าเราเนี่ยผู้หญิงด้วยกันจะต้องทำก่อน เพราะฉันนั้นเรามี Hotline ที่จะคอยให้คำปรึกษากับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ของพวกเรา มีภาษาพม่าและภาษากะเหรี่ยง ที่คอยให้ความช่วยเหลือทาง Hotline นะคะ เบอร์ 061-775-8181 พวกเราเป็นผู้หญิงเราต้องช่วยซึ่งกันและกัน ถึงแม้ว่าเป็นชาติไหนก็ตาม ขอให้สู้ ๆ ผู้หญิงทั้งหลาย ขอบคุณค่ะ