ขอเชิญทุกท่านรับฟังบทสัมภาษณ์นายจ้างของลูกจ้างทำงานบ้าน ผู้ที่ได้รับผลกระทบหากลูกจ้างทำงานบ้านได้เข้าประกันสังคมมาตรา 33 ว่านายจ้างคิดเห็นอย่างไร โดยมี 2 ท่านที่ร่วมให้สัมภาษณ์ คือ ดร.วุฒิ ชินชนะโชคชัย และคุณนาลินี ศรีกสิกุล ซึ่งมีสถานะเป็นนายจ้างและครอบครัวของนายจ้างที่มีลูกจ้าทำงานบ้าน
เห็นด้วยไหมในการที่ให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าสู่ประกันสังคม มาตรา 33
คุณนาลินี : เห็นด้วยค่ะ ใครก็ตามที่เป็นลูกจ้างก็ควรจะได้รับสิทธิประกันสังคม จริงๆนายจ้างอาจจะคิดว่ามันมีต้นทุนเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์กับลูกจ้างทำงานบ้านมากๆ ทำให้เขาได้รับสิทธิประโยชน์ตั้งหลายอย่าง
คุณนาลินี : ในปัจจุบันลูกจ้างทำงานบ้าน เขาจะไม่ได้เข้าประกันสังคมมาตรา33อยู่แล้ว เพราะประกันสังคมยกเว้นอาชีพนี้ไม่ให้เป็นผู้ประกันตน แต่ว่าที่บ้านของเรามีกิจการก็เลยสามารถที่จะให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าประกันสังคมในฐานะลูกจ้างสถานประกอบการได้ เขาก็สามารถจัดการตัวเองได้ในเรื่องสุขภาพ ถ้าลูกจ้างทำงานบ้านทุกคนได้เข้าถึงประกันสังคมมาตรา 33 จริงๆ ทั้งเรื่องยา เรื่องค่ารักษา การตรวจร่างกาย เวลาเกิดอุบัติเหตุเขาก็สามารถไปใช้สิทธิที่โรงพยาบาลได้เลยไม่ต้องรอคนพาไปหรือกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย มันก็เป็นประโยชน์กับเขา
คิดอย่างไรที่บอกว่า “จำเป็นไม่ต้องเข้ามาตรา33 เจ็บป่วยใช้สิทธิ์บัตรทองก็ได้”
คุณนาลินี : ประกันสังคมจะได้สิทธิอื่นๆด้วย ไม่ใช่แค่ค่ารักษาพยาบาล ถ้าเขามีลูก ก็จะได้เงินสงเคราะห์บุตร มีเงินค่าคลอด แล้วเวลาถูกเลิกจ้างก็จะได้รับเงินชดเชย เวลาเกษียณอายุก็มีเงินที่คล้ายๆบำเหน็จ-บำนาญ มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการส่งเงินสมทบ ซึ่งสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมครอบคลุมมากกว่าบัตรทองค่ะ
ในกรณีของแรงงานข้ามชาติ ประกันสังคม กับ ประกันสุขภาพ
คุณนาลินี : เห็นข้อดีของประกันสังคมมากกว่าการซื้อประกันสุขภาพ สมมุติเราซื้อประกันสุขภาพจะมีระยะเวลา 1 ปี 3 ปี เราต้องเริ่มจากการพาเขาไปตรวจสุขภาพก่อน ซึ่งเอกสารเหล่านี้มีผลต่อการขอใบอนุญาตของแรงงานข้ามชาติ เพราะเวลาเราไปขอต่อใบอนุญาตทำงานเขาก็จะมีให้เลือกระหว่าง ประกันสุขภาพ กับ ประกันสังคม ถ้าในช่วงนึงเราไม่สามารถพาลูกจ้างทำงานบ้านข้ามชาติไปตรวจร่างกายหรือขอซื้อประกันสุขภาพได้จากรพ.ของรัฐ ประกันสังคมสามารถต่อได้ง่ายกว่า เพราะว่าเรามีเอกสารที่ยื่นได้เลย ไม่ต้องไปดำเนินการทุกปีๆ
ลูกจ้างทำงานบ้านข้ามชาติสำคัญต่อประเทศไทย?
ดร.วุฒิ : ณ ปัจจุบันสำคัญมากและจำเป็นมาก ตามที่เรารู้ว่าประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานแบบ Unskilled labourเยอะในปัจจุบัน ถ้าถามว่าจำเป็นไหม จำเป็นมาก เพราะคนไทยเองก็ไม่ชอบงานที่จะเป็นงานบริการ หรือ ทำงานที่ตัวเองคิดว่าเป็นงานที่ต่ำก็ไม่อยากทำแล้ว
ในฐานะนายจ้างคิดอย่างไรที่ลูกจ้างทำงานบ้านต้องการเข้าประกันสังคมมาตรา33
ดร.วุฒิ : นายจ้างทุกคนเต็มใจที่จะจ่าย ถ้าสามารถเอาลูกจ้างทำงานบ้านเข้ามาอยู่ในระบบแบบถูกต้อง ทุกคนยอมจ่ายเพราะต้นทุนตัวนี้ไม่ใช่ต้นทุนตัวใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับการที่บอกว่าไม่มีแรงงาน ค่าใช้จ่ายมันสูงกว่าเยอะ ประกันสังคมก็ครอบคลุมไปถึงสวัสดิภาพของการรักษาพยาบาลอันนี้เป็นจุดใหญ่
ดร.วุฒิ : ที่ประสบการณ์ของผม คือ บางทีลูกจ้างทำงานบ้านไม่สบายนายจ้างก็ต้องจ่ายอยู่ดี เพราะนายจ้างต้องรับผิดชอบการดูแลรักษาพยาบาลเขาแต่มันกลายเป็นเงินของนายจ้าง แต่ถ้ามันมีสวัสดิการผมเชื่อว่า ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างทำงานบ้านก็จะดีขึ้นเยอะ แต่ต้องไม่ให้มีความยุ่งยากกับนายจ้าง เพราะนายจ้างอยากทำถูกกฎหมาย ลูกจ้างก็อยากถูกกฎหมาย คือลูกจ้างไม่มีใครอยากจะอยู่แบบผิดกฎหมาย แต่เนื่องจากว่าเข้าไม่สามารถจะเขาถึงระบบราชการ จึงต้องทำผิดกฎหมาย นายจ้างเวลาต้องการลูกจ้างก็เลยถูกบังคับให้ทำผิดกฎหมาย จะเห็นว่าระบบมันผิดตั้งแต่ต้น ทำไมไม่ทำให้มันถูกต้อง เหมือนคนไทยอยากอยู่อเมริกา พม่า ลาว เขมร เขาก็อยากอยู่เมืองไทยเพราะประเทศมันเจริญ แต่ความเจริญนั้นเราต้องแบ่งปันให้เขาในเรื่องของสวัสดิการด้วย