วันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566

ข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2566

โดย สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) และ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

จากการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2565 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เกินครึ่งหนึ่งของผู้มีงานทำในประเทศไทย เป็นแรงงานนอกระบบจำนวน 20.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของผู้มีงานทำ ซึ่งประกอบด้วยแรงงานในภาคเกษตรกรรม ภาคบริการและการค้า และภาคการผลิต โดยแรงงานนอกระบบจำนวน 5.8 ล้านคน ต้องประสบปัญหาจากการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องค่าตอบแทน ที่มีค่าจ้างเฉลี่ยเพียง 7,539 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ หลายคนทำงานหนัก งานขาดความต่อเนื่อง และไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน อีกทั้งสภาพแวดล้อมในการทำงาน ฝุ่น ละออง ควัน กลิ่น และแสงสว่างไม่เพียงพอนั้นส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ขณะเดียวกันแรงงานนอกระบบได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศหลายล้านบาท แต่แรงงานเหล่านี้กลับเข้าไม่ถึงการคุ้มครองทางสังคม สิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากรัฐ อีกทั้งเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนและการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับกลุ่มอาชีพ

เพื่อให้แรงงานนอกระบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงสวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคมสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ จึงขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อพี่น้องแรงงานนอกระบบ ดังต่อไปนี้ 

  1. ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ดังนี้
    1. อนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมกัน
    1. อนุสัญญาฉบับที่ 177 ว่าด้วยเรื่องการรับงานไปทำที่บ้าน 
    1. อนุสัญญาฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน 
  2. ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และราคาพลังงาน
  3. จัดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบทุกอาชีพ และกำหนดให้มีตัวแทนแรงงานนอกระบบในคณะกรรมการต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐ​ ในอัตราส่วนที่เหมาะสมและครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ
  4. กำหนดให้มีสิทธิประโยชน์การตรวจสุขภาพประจำปีของกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยง
  5. จัดตั้งกองทุนเพื่อการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ สำหรับการกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำ ที่สามารถเข้าถึงง่าย และครอบคลุมทุกกลุ่มสาขาอาชีพ และส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงการฝึกอบรมอาชีพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  6. ยกระดับกองทุนอุดหนุนเด็กเล็กให้ครอบคลุมถ้วนหน้า รวมทั้งจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กที่มีการบริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแรงงานในทุกชุมชน
  7. ขยายการประกันสังคมแบบถ้วนหน้า ภาคบังคับสำหรับคนทำงานทุกคน โดยระหว่างนี้ให้ขยายการคุ้มครองให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าประกันสังคมมาตรา 33 และเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและการประกันการขาดรายได้ให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 
  8. กำหนดมาตรการพิเศษ เรื่องโควตาการจัดซื้อ จัดจ้าง และงานบริการจากผู้ทำการผลิตขนาดเล็ก ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
  9. สนับสนุนให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเข้าถึงการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
  10. ดำเนินการคืนพื้นที่ทำการค้าให้แก่หาบเร่แผงลอย ตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหารริมทาง ถนนคนเดิน ตลาดเขียวและตลาดในหน่วยงานราชการต่าง ๆ

สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย)

สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย)

เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย

สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย

สหพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย กรุงเทพมหานคร

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ