กว่าจะมาเป็น Mini Hawker Center ​ณ บางขุนเทียน พระราม 2 ซอย 69

กว่าจะมาเป็น ROUTE 69 Mini Hawker Center ผู้ค้าร่วมต่อสู้ด้วยกันมายาวนานกว่า 7-8 ปี เดิมพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นจุดผ่อนผันให้ทำการค้าตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการค้าขายในพื้นที่ผ่อนผัน ปี พ.ศ. 2548 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2558 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มี คำสั่งที่ 4/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยส่วนร่วม อาศัยอำนาจในมาตรา 44 ทำการยกเลิกหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ผู้ค้าที่ทำการค้าบริเวณปากซอยบางขุนเทียนพระราม 2 ซอย 69 ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวไปด้วย

หากย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่สำนักงานเขตบางขุนเทียนได้ยกเลิกจุดผ่อนผันบริเวณพระราม 2 ซอย 69 ผู้ค้าพยายามยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้กลับมาทำการค้าอีกครั้ง ทั้งทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง, รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สกลธี ภัททิยกุล และผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียนในขณะนั้น เรื่อง ไม่เห็นด้วยต่อการยกเลิกจุดผ่อนผัน ขอความเป็นธรรมให้แก่ผู้ค้า และขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยดำเนินการคืนพื้นที่ตั้งจุดค้าขายจำหน่ายสินค้า จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 คำสั่งจากสำนักงานเขตบางขุนเทียน ที่ 08/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยระดับเขต แต่งตั้งนายปรีชา ไทยสงเคราะห์ เป็นผู้แทนผู้ค้าในชุมผ่อนผัน แต่แล้ววันที่ 28 มกราคม 2563 กรุงเทพมหานครได้ออกประกาศ เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ” ซึ่งทำให้ประกาศเมื่อปี 48 ไม่ถูกใช้บังคับอีกต่อไป หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ ยกเลิกประกาศปี 48 และใช้ฉบับใหม่นี้แทน ซึ่งผู้ค้าเรียกกันว่า “กฎระเบียบ 16 ข้อ”

หลังจากประกาศดังกล่าวออกมาไม่นาน วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ก็ได้มีการประชุมคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขตบางขุนเทียน ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งมติที่ประชุมเห็นด้วยกับการเปิดพื้นที่ทำการค้าชั่วคราวบริเวณดังกล่าว อีกทั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีความเห็นชอบกำหนดพื้นที่ทำการค้า 3 พื้นที่ ได้แก่ พระราม 2 ซอย 69 เขตบางขุนเทียน, ซอยอารีย์ เขตพญาไท, และปากซอยอ่อนนุช 70 เขตประเวศ และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ประกาศให้ที่สาธารณะดังกล่าวข้างต้นเป็นพื้นที่ทำการค้า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 หลังจากนั้น วันที่ 25 กันยายน 2563 สำนักงานเขตบางขุนเทียน ได้ประกาศให้ผู้ค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขายหรือจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ทำการค้าของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1-15 ตุลาคม 2563 แต่ปรากฏว่าจำนวนผู้มีคุณสมบัติทำการค้ามีถึง 161 คน เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ค้าบางขุนเทียนจึงทำหนังสือถึงผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน เรื่อง การพิจารณาคัดเลือกผู้ค้า แต่สำนักงานเขตบางขุนเทียนไม่สามารถให้สิทธิผู้ค้าเดิมก่อนได้เนื่องจากประกาศ ข้อ 9 เรื่อง วิธีการคัดเลือกผู้ทำค้า หากมีผู้ค้ามากกว่าแผงค้าให้ทำการจับสลาก 

ผู้ค้าเดิมซึ่งเป็นผู้ได้รับการผ่อนผันให้ทำการค้าบริเวณดังกล่าวตามประกาศกรุงเทพมหานครเมื่อปี 48 แต่ประกาศดังกล่าวถูกยกเลิก และประกาศฉบับใหม่ถูกเขียนขึ้นในยุคที่อำนาจไม่ได้อยู่ในมือของประชาชน จึงสร้างความไม่ชอบธรรมให้แก่ผู้ค้าที่โดนยกเลิกไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 ผู้ค้าจึงได้ทำหนังสือถึงสำนักงานเขตบางขุนเทียน คัดค้านการจับสลากผู้ค้าและชะลอการใช้ประกาศกรุงเทพมหานคร และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศกรุงเทพมหานคร ข้อ 9 และขอทุเลาการบังคับใช้ประกาศกรุงเทพมหานครออกไปก่อน และขอให้ผู้ค้าเดิมได้ทำการค้าไปก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไขระเบียบ ซึ่งการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งพิพากษาเพิกถอนประกาศ ต้องยื่นฟ้องคดีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ประกาศกรุงเทพมหานครฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 การฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 จึงเป็นการพ้นกำหนดเวลาการยื่นฟ้อง และวันที่ 28 กันยายน 2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น และมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

แม้เวลาจะผ่านมาหลายปีแต่ผู้ค้ายังคงรวมกลุ่มต่อสู้กันมาโดยตลอด ในวันที่ 7 มกราคม 2564 สำนักงานเขตบางขุนเทียนประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้ขายหรือจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ทำการค้าของกรุงเทพมหานครบริเวณทางเท้าติดลานจอดรถห้างเทสโก้โลตัส ถนนพระราม 2 ซอย 69 โดยให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกลำดับที่ 1-45 ไปรายงานตัว ณ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตบางขุนเทียน แม้ผู้ค้าจะเดินเรื่องคัดค้าน ยื่นเรื่อง ส่งหนังสือ แต่สำนักงานเขตบางขุนเทียนยังคงประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้ขายหรือจำหน่ายสินค้าบริเวณทางเท้าติดกับลานจอดรถห้างเทสโก้โลตัส ถนนพระราม 2 ซอย 69 

จากการยื่นหนังสือคัดค้านการจับสลากผู้ค้าและชะลอการใช้ประกาศกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่
3 ธันวาคม 2563 และขอให้ชะลอประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้ขายหรือจำหน่ายสินค้า เมื่อวันที่ 
17 ธันวาคม 2563 ทางสำนักงานเขตได้แจ้งผลการร้องทุกข์ว่า สำนักงานเขตบางขุนเทียน ไม่สามารถระงับการจับสลาก หรือชะลอการบังคับใช้ประกาศกรุงเทพมหานครนี้ได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดให้อำนาจที่จะกระทำได้ 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ผู้ค้าได้ยังได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยขอให้ศาลมีคำสั่ง ดังนี้ 

  1. ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ ลงวันที่ 28 มกราคม 2563 ข้อ 9 
  2. ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศสำนักงานเขตบางขุนเทียน เรื่องลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขายหรือจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ทำการค้าของกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 28 กันยายน 2563
  3. ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศสำนักงานเขตบางขุนเทียน เรื่อง ประกาศรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเข้าทำการค้าในพื้นที่ทำการค้าของกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563
  4. ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนประกาศสำนักงานเขตบางขุนเทียน เรื่อง ประกาศรายชื่อได้รับคัดเลือกให้ขายหรือจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ทำการค้าของกรุงเทพมหานคร

ตลอดระยะเวลา ผู้ค้าได้ทำหนังสือ ข้อเรียกร้อง และแผนตลาดยื่นให้ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ผลที่ได้กลับไม่เป็นอย่างที่หวัง เมื่อประตูสนามการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเปิด ผู้ค้ากลับมามีความหวังอีกครั้ง เพราะในช่วงก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หนึ่งในผู้สมัครผู้ว่าฯ ได้ลงพื้นที่หาเสียงกับผู้ค้าบางขุนเทียน และได้พูดคุยถึงปัญหาและความต้องการของผู้ค้า เรื่อง การให้พื้นที่ปากซอยพระราม 2 ซอย 69 สามารถกลับมาทำการค้าได้อีกครั้ง และเมื่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้ผู้ค้าเร่งดำเนินการยื่นเรื่องกับทางฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตบางขุนเทียน และ ประชุมผู้ค้าเพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับมาทำการค้าขายอีกครั้ง แม้พื้นที่ดังกล่าวจะใช้เวลากว่า 1 ปี ในสมัยผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พื้นที่ทำการค้าที่เหมือนจะปิดตายไปเกือบ 8 ปี ได้ฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้งในวันที่ 6 มิถุนายน 2566 โดยมีผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ค้า และร่วมเปิดพื้นที่ทำการค้าบริเวณปากซอยพระราม 2 ซอย 69 ภายใต้แนวคิด “ROUTE 69 Mini Hawker Center” ด้วยตนเอง