การเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างสมาชิกของ Homenet Thailand Brand

ในปี 2560 กลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้าน ซึ่งเป็นสมาชิกของ Homenet Thailand Association จำนวน 25 กลุ่ม มีสมาชิกประมาณ 1,000 คน ได้สร้างองค์กรธุรกิจร่วมกันภายใต้ชื่อ Homenet Thailand Brand เพื่อ สร้างช่องทางการตลาด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสมาชิก สมาชิกระดมทุนในการทำงานโดยมีการลุงหุ้นร่วมกันกับ Homenet Thailand Association  โดย Homenet Thailand Brand จะทำหน้าที่สนับสนุนการบริหารจัดการธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และรูปแบบการหีบห่อสินค้า  และสร้างช่องทางการตลาดรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการตลาดออนไลน์ เพื่อให้สมาชิกสามารถจำหน่ายสินค้าในราคาที่ยุติธรรมได้ 

หลังการดำเนินการพัฒนาความรู้ความเข้าใจของสมาชิกในเรื่องการทำงานร่วมกัน  Homenet Thailand ได้เริ่มดำเนินงานอย่างจริงจังในปี 2562 โดยได้รับการสนับสนุนจาก  Fondation Chanel ในการพัฒนาให้ Homenet Thailand Brand ดำเนินงานในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม และได้จดทะเบียนเป็นบริษัทเมื่อต้นปี 2566 และตั้งเป้าหมายที่จะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายไทยต่อไป ปัจจุบัน Homenet Thailand Brand ดำเนินงานครอบคลุมกลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านจำนวน 44 กลุ่ม ซึ่งมาสมาชิกมากกว่าหนึ่งพันคน จาก 4 ภูมิภาคของประเทศไทยและจากกรุงเทพมหานคร

จากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้รัฐบาลมีคำสั่งปิดเมืองในเวลาต่อมา และดำเนินนโยบายรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้นักท่องเที่ยวที่เคยเข้ามาประเทศไทยปีละมากกว่า 20 ล้านคนไม่สามารถเดินทางมาได้  กิจกรรมทางสังคมและธุรกิจหยุดการดำเนินงาน หรือมีการดำเนินงานไม่เต็มที่ สภาพเศรษฐกิจถดถอย  และส่งผลกระทบต่อการทำมาหากิน ของแรงงานนอกระบบกลุ่มต่าง ๆ เช่น หาบเร่แผงลอย ผู้ขับขี่รถมอไซด์รับจ้าง ลูกจ้างทำงานบ้าน ในขณะที่กลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้าน ซึ่งผลิตสินค้าหัตถกรรม ที่ต้องอาศัยตลาดจากนักท่องเที่ยว ไม่สามารถขายผลผลิตแบบเดิมได้ จากการศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด19 ในปี 2563 และ ปี 2564 พบว่าในช่วงกลางปี 2564  ผู้ทำการผลิตที่บ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด  เพราะมีรายได้เฉลี่ยเป็นศูนย์ แม้ในปี 2565 รัฐบาลมีนโยบายผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ แต่กลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านก็ยังมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าร้อยละ 40 ของรายได้เฉลี่ยที่เคยได้รับในช่วงก่อนเกิดโควิด 19  Homenet Thailand จึงได้ริเริ่มการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านและแรงงานนอกระบบกลุ่มอื่น ๆ ขึ้น โดยริเริ่มเชื่อมโยงกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบจากท้องถิ่นกับกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าซึ่งมีความชำนาญในการเย็บ ตัด ปัก ผ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ  และเชื่อมโยงสินค้าอาหารจากท้องถิ่นให้กับชุมชนแรงงานนอกระบบในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ต้องการอาหารจากท้องถิ่น โดยคาดหวังว่าการเชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่มสมาชิกจะช่วยให้ สมาชิกสามารถแปรรูปสินค้า ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้  รวมถึงเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าของสมาชิกได้มากขึ้น ตัวอย่างของการเชื่อมโยงธุรกิจของสมาชิก Homenet Thailand Brand คือ

  1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าย้อมครามโนนเรือ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าย้อมครามโนนเรือ หมู่13 อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร มีสินค้าเป็นผ้าฝ้ายทอมือย้อมครามที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตั้งแต่การทอผ้าจากฝีมือสตรีในชุมชนรวมไปถึงการปลูกต้นคราม และการย้อมสีครามซึ่งเหลือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย ผ้าฝ้ายทอมือย้อมคราม จากกลุ่มโนนเรือ มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคอีสาน ทออกมาเป็นผ้าพันคอ และผ้าคลุมไหล่ที่สวยงาม แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด สินค้าเหล่านี้มีราคาถูกลง และจำหน่ายได้น้อย  Homenet Thailand  จึงนำผ้าพันคอและ ผ้าคลุมไหล่ เหล่านี้มาให้ กลุ่มเย็บผ้ามุสลิมลำหินใต้ กรุงเทพฯซึ่งเป็นกลุ่มสตรีมุสลิมที่มีความชำนาญในการปักผ้าคลุมผม แต่ปัจจุบันงานปักผ้าด้วยมือ หรือแม้แต่การปักด้วยจักรเป็นที่นิยมน้อยลง เพราะต้องใช้เวลานาน และมีราคาสูง อีกทั้งผู้หญิงมุสลิมรุ่นใหม่นิยมสวมใส่ผ้าที่มีลาดลายตามแฟชั่นมากขึ้น ทำให้กลุ่มผู้หญิงมุสลิมเหล่านี้ไม่มีงานทำ  การนำผ้าฝ้ายย้อมครามมาให้กลุ่มสตรีมุสลิมปัก ช่วยให้สินค้าของบ้านโนนเรือ มีความแตกต่างจากกลุ่มผ้าครามอื่นๆในจังหวัดสกลนคร ช่วยเพิ่มความหลากหลายในการเลือกซื้อแก่ลูกค้า และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามได้ รวมทั้งช่วยให้กลุ่มปักผ้าของสตรีมุสลิมมีงานทำไปพร้อมกัน  เมื่อ Homenet Thailand Brand นำผ้าฝ้ายทอมือย้อมครามปัก ออกจำหน่ายก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีพอสมควร ช่วยรสร้างรายได้ให้กับสมาชิกผู้ผลิตและผู้ปักผ้ามากกว่า 50 คนให้ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤต COVID-19

2. การแปรรูปผ้าย้อมสีธรรมชาติจากกลุ่มพรรณไม้

กลุ่มพรรณไม้ เกิดจากการรวมกลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองย้อมสีธรรมชาติ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ในภาคอิสานของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ และศรีสะเกษ ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 179 คน กลุ่มพรรณไม้เป็นกลุ่มสตรีทอผ้าที่นำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ มาต่อยอดสร้างอาชีพทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ สร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวมามากกว่า 30 ปี  โดยมีลูกค้าทั้งภายในและต่างประเทศ ในปี 2563 การแพร่ระบาดของ COVID-19  ได้ส่งผลทำให้ลูกค้าประจำที่เคยซื้อสินค้าผ้าทอของกลุ่มพรรณไม้ไปขายต่างประเทศหยุดดำเนินกิจการ  สินค้าผ้าทอของกลุ่มจึงค้างในสต๊อกจำนวนมาก

Homenet Thailand Brand  จึงนำผ้าทอของกลุ่มพรรณไม้ มาให้กลุ่มสตรีเคหะชุมชนทุ่งสองห้อง กรุงเทพฯ ออกแบบเป็นเสื้อ กางเกง กระโปรง และตัดเย็บออกจำหน่าย  กลุ่มสตรีเคหะชุมชนทุ่งสองห้อง กรุงเทพฯมีสมาชิกเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้าฝีมือประณีต แต่ช่างเย็บเสื้อผ้าเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19  จึงไม่มีงานทำ สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของHomenet Thailand Brand ได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในเมืองเป็นอย่างดี การนำผ้าทอมือจากกลุ่มพรรณไม้มาตัดเย็บโดยกลุ่มสตรีเคหะชุมชนทุ่งสองห้อง ช่วยให้ผ้าทอที่ค้างสต๊อคของกลุ่มฯสามารถจำหน่ายได้ และช่วยให้ช่างตัดเย็บมีงานทำและมีรายได้ในช่วงวิกฤตโควิด 

3. การจำหน่ายแจ่วบองสมุนไพร จากกลุ่มผลิตอาหารชุมชนเมืองขอนแก่นแก่ชุมชนเมืองในกรุงเทพฯ  

กลุ่มผลิตอาหารชุมชนเมืองขอนแก่นเป็นการรวมตัวของกลุ่มอาชีพ 4 กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มผู้ทำการผลิตขนมนางเล็ด กลุ่มผู้ทำการผลิตทองม้วน กลุ่มผู้ทำการผลิตขนมดอกจอก และกลุ่มผู้ทำการผลิตแหนมหมู และไข่เค็ม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 ทำให้รัฐบาลประกาศปิดตลาด และปิดเมือง ไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้เหมือนช่วงปกติ  ส่งผลให้คนกรุงเทพขาดแคลนอาหาร และผู้ทำการผลิตที่บ้านซึ่งอยู่ในต่างจังหวัดไม่สามารถจำหน่ายสินค้าของตนได้  Homenet Thailand Brand  จึงได้เสนอให้กลุ่มผลิตอาหารชุมชนเมืองขอนแก่นพัฒนาบรรจุภัณฑ์แจ่วบองสมุนไพรให้สวยทันสมัย แล้วนำไปจำหน่ายที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ ในชุมชนประดิษฐ์โทรการ ซอยพหลโยธิน 47 กรุงเทพ ซึ่งเป็นชุมชนขนาด 400 หลังคาเรือน มีสมาชิกที่อาศัยในชุมชนมากกว่า 1,000 คน และมีสมาชิกของ Homenet Thailand Association อาศัยอยู่จำนวนมาก การนำแจ่วบองสมุนไพรจากกลุ่มผู้ทำการผลิตโดยตรงมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง เป็นการเชื่อมโยงทางธุรกิจที่เกิดประโยชน์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยผู้บริโภคก็สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ส่วนผู้บริโภคก็ได้บริโภคอาหารที่ราคายุติธรรม ปลอดภัยเพราะเป็นอาหารที่ไม่ใส่สารกันบูดและยังสามารถเสนอแนะให้มีการปรับปรุงรสชาดให้ถูกใจผู้บริโภคได้อีกด้วย

การเชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้าน ซึ่งเป็นสมาชิกของ Homenet Thailand Brand  รวมถึงการการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคจากชนบทและเมือง เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ช่วยให้เห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (SSE Social Solidarity Economy) ที่ช่วยให้มีการเพิ่มมูลค่าสินค้า ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างอาชีพ และกระจายรายได้สู่ชุมชน ทั้งผู้ผลิตจากท้องถิ่น ผู้ค้า และผู้บริโภคในเมือง รวมถึงส่งเสริมอาหารปลอดภัยให้แก่ชุมชนเมืองซึ่งต้องอยู่กับอาหารสำเร็จรูป ที่ต้องบริโภคสารกันบูดตลอดเวลา

การดำเนินงานด้านนี้ของ Homenet Thailand Brand ยังมีปัญหาอุปสรรค ที่ต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มผู้ผลิตอาหารแจ๋วบองสมุนไพร ใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ปริมาณมาก เมื่อนำสินค้ามาขายในพื้นที่กรุงเทพ การเก็บรักษาจะมีระยะสั้นเนื่องจากไม่ใส่สารกันบูด ก็ต้องปรับให้บรรจุภัณฑ์มีขนาดที่เล็กลง เพื่อให้สามารถบริโภคได้ทัน  หรือเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอของกลุ่มพรรณไม้ และผ้าครามปักของกลุ่มโนนเรือ จำเป็นต้องมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ และลวดลายให้ทันสมัย ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในเมือง แต่การเชื่อมโยงกันเพื่อแก้ปัญหาการประกอบอาชีพของกลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านและกลุ่มแรงงานนอกระบบในเมืองก็นับเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด โดยเป็นการริเริ่มใช้ศักยภาพที่เครือข่ายมีอยู่ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน

พุทธิณี  โกพัฒน์ตา
เมษายน 2566