หลายปีของการรณรงค์ ประเทศไทยได้มีกฎกระทรวงฉบับใหม่ ซึ่งขยายการคุ้มครองที่สําคัญอยู่หลายประการกับลูกจ้างทํางานบ้านที่เคยถูกกีดกันออกไป อย่างไรก็ตาม การขาดการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคม การไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO 189 และความเปราะบางของแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาที่ยังคงอยู่สําหรับรัฐบาลไทย และความท้าทายที่เราจะยังคงต้องสู้กันต่อไปอย่างมั่นคงจนกว่างานที่มีคุณค่าจะกลายเป็นความจริงสําหรับลูกจ้างทำงานบ้านทุกคนในประเทศ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงแรงงานได้ลงนามกฎกระทรวงฉบับที่ 15 ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของลูกจ้างทํางานบ้าน ซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย ภายใต้กรอบกฎหมายใหม่นี้ เหล่าลูกจ้างทำงานบ้านจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำตามมาตรฐานเดียวกับแรงงานอื่น ๆ และมีชั่วโมงการทํางานที่ปกติ ( ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันและพัก 1 ชั่วโมง) วันลาพักผ่อนประจําปี และวันลากิจ นอกจากนี้พวกเขายังจะมีสิทธิลาคลอด 98 วัน ซึ่งจะได้รับค่าจ้าง 45 วันอีกด้วย นายจ้างไม่สามารถบังคับให้คนทำงานที่ตั้งครรภ์ทํางานล่วงเวลาระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 06.00 น. รวมทั้งไม่สามารถเลิกจ้างเนื่องจากการตั้งครรภ์ได้ กฎกระทรวงฉบับที่ 15 ยังกําหนดให้ลูกจ้างทำงานบ้านที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีวันลาโดยได้รับค่าจ้าง 30 วัน เพื่อเข้ารับการศึกษาและการฝึกอบรม
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นผลมาจากความพยายามรณรงค์เป็นเวลาหลายปีจากพันธมิตรเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านสากล เครือข่ายแรงงานบ้านในประเทศไท โดยการประสานงานของ HomeNet และด้วยการสนับสนุนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โครงการ ILO TRIANGLE in ASEAN ได้นํากระบวนการทบทวนกรอบกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญา 189 มากขึ้น กระนั้นยังมีหลายประเด็นที่ต้องแก้ไขก่อนที่ลูกจ้างทำงานบ้านจะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคนงานคนอื่นๆ รวมถึงการเข้าถึงประกันสังคมภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคมของประเทศไทย
“พวกเรามีความสุขกับกฎกระทรวง ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ของพวกเรา ผู้นําและสมาชิกเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทยไปที่กระทรวงแรงงานเพื่อต่อสู้เรื่องสิทธิของลูกจ้างทำงานบ้าน บ่อยครั้งที่นายจ้างมักมีอํานาจเหนือกว่าพวกเรา นายจ้างสามารถทําอะไรก็ได้ทุกอย่างกับพวกเรา แต่ตอนนี้นายจ้างไม่สามารถทําเช่นนั้นได้อีกต่อไป เราจะมีสิทธิตามกฎหมายมากขึ้น ส่วนที่สําคัญที่สุดของกฎกระทรวงฉบับที่ 15 คือ เวลาทำงานต่อวัน 8 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทั้งหมดของเรายังไม่บรรลุ พวกเรายังไม่ได้เข้าประกันสังคมมาตรา 33 พวกเรายังไม่ได้ให้สัตยาบัน C189 นี่คือเป้าหมายต่อไปของเรา”
กัญญภา ประสพสุข ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย
มิติสําคัญประการหนึ่งของงานที่มีคุณค่า คือ การเข้าถึงหลักประกันทางสังคม ซึ่งยังห่างไกลจากความเป็นจริงสําหรับลูกจ้างทำงานบ้านส่วนใหญ่ในประเทศไทย อันที่จริง เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของลูกจ้างทำงานบ้านที่ได้รับการว่าจ้างโดยตรงจากนายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียนภายใต้กองทุนประกันสังคม ระบบปัจจุบันแยกพวกเขาออกจากพระราชบัญญัติประกันสังคม (มาตรา 33) ซึ่งหมายความว่านายจ้างไม่สามารถขึ้นทะเบียนให้กับลูกจ้างทำงานบ้านได้ ทางเลือกเดียว คือ การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแบบสมัครใจ (มาตรา 40) ซึ่งให้ขอบเขตและระดับการคุ้มครองที่ต่ำกว่า และไม่รวมถึง เช่น การบาดเจ็บจากการทํางาน การคลอดบุตร และเงินบํานาญ ภายใต้ข้อตกลงนี้ มีเพียงเฉพาะคนทำงานเท่านั้นที่ต้องจ่ายสมทบ โดยปล่อยให้นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ นอกจากนี้ มาตรา 40 ยังไม่ครอบคลุมลูกจ้างทำงานบ้านข้ามชาติ ซึ่งหมายความว่าลูกจ้างทำงานบ้านส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงหลักประกันสังคมใดๆ ยกเว้นการประกันสุขภาพของแรงงานข้ามโดยสมัครใจ
คนทํางานบ้านมีบทบาทสําคัญมากขึ้นในการดูแลครอบครัวและครัวเรือนของไทย จากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็วและเศรษฐกิจที่กําลังเติบโต ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจํานวนลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศเพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งในสามจากการสํารวจเศรษฐกิจนอกระบบ (IES) ในปี พ.ศ. 2561 มีลูกจ้างทำงานบ้าน เกือบ 290,000 คน โดยเจ็ดในสิบเป็นผู้หญิง การเข้ามาของลูกจ้างทำงานบ้านมายังประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ลูกจ้างทำงานบ้านประมาณ 150,000 คนส่วนใหญ่มาจากลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และกัมพูชา และส่วนใหญ่เข้ามาโดยไม่ถูกฎหมาย เนื่องจากหลายประเทศต้นทางยังไม่มีกลไกที่อํานวยความสะดวกในการเข้ามาอย่างถูกกฎหมายสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน
แม้ว่างานบ้านจะมีความสําคัญต่อการทํางานของสังคมและเป็นแหล่งการจ้างงานที่สําคัญสําหรับผู้หญิงในประเทศไทย แต่ลูกจ้างทำงานบ้าน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ส่วนใหญ่ถูกกีดกันจากการคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น ลูกจ้างทำงานบ้านส่วนใหญ่จึงมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และประมาณครึ่งหนึ่งมีรายได้ต่ํากว่าค่าแรงขั้นต่ํา แม้ว่ากฎกระทรวงฉบับที่ 15 จะปรับปรุงการคุ้มครองทางกฎหมาย แต่ก็จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับรองการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อสู้ต่อไปเพื่อเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมและการให้สัตยาบัน C189 ในเรื่องนี้ บทบาทของเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านและ HomeNet มีส่วนสำคัญมาก เนื่องจากพวกเขาเป็นแนวหน้าของการรณรงณ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการรวมกลุ่มและให้การสนับสนุนโดยตรงและการเสริมสร้างพลังอํานาจและความสามารถ พวกเขายังจัดสัมมนากับนายจ้างเป็นประจําและได้ทํางานร่วมกับสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) เพื่อพัฒนาจรรยาบรรณและมาตรฐานสัญญาการจ้างงาน
จากเครือข่ายลูกจ้างทำงาบ้านสากล เราจะยังคงสนับสนุนความพยายามของพันธมิตรในเครือของเราต่อไป และส่งเสริมการเจรจาทางสังคมและการเจรจาร่วมกัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการรักษาสิทธิสําหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ในขณะที่มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ยุติธรรมและยั่งยืนมากขึ้น โดยที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ขอบคุณต้นฉบับภาษาอังกฤษ จาก IDWF : New Legal Protections for DWs in Thailand: A Milestone with More Struggles Ahead