จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย : ร่วมกันคิดสู่แนวปฎิบัติ

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เวลา 9.00-12.00 น. เครือข่ายวิชาการสร้างเมืองเพื่อทุกคน ได้จัดงานสัมมนาโต๊ะกลม “จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย: ร่วมกันคิดสู่แนวปฎิบัติ” ณ ห้องประชุมคุณนวลนาฏ อมาตยกุล ชั้น 2 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 60 คน ทั้งผู้สนใจทั่วไป ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย นักวิชาการ และสื่อมวลชน

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอว่า การจัดระเบียบทางเท้า ไม่ใช่การทวงคืนทางเท้าจากหาบเร่แผงลอย แต่เป็นการแบ่งพื้นที่ถนนออกมา แบ่งทางเท้าให้กว้างขึ้น บริหารจัดการพื้นที่ตรงนั้น ในต่างประเทศมีการเวนคืนพื้นที่ถนน ส่งผลดีต่อเมือง ในประเทศไทยเป็นความขัดแย้งเชิงพื้นที่ การใช้สอยของเมือง กดทับแออัดยัดเยียดบนทางเท้า ที่ผ่านมาหาบเร่ฯ มีกฎหมายทั้งระดับบนและระดับล่างที่ไม่สอดคล้องกัน ระดับบนบอกให้กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แต่ระดับท้องถิ่นกลับกีดกัน เป็นความลักลั่นและเปลี่ยนผ่านตามนโยบายการเมืองของแต่ละพรรค หาหลักในการจัดการไม่ได้ จะส่งเสริมหรือลดทอน ไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ เช่น การไล่รื้อหรือการจัดระเบียบโดยเอาออกไปเลยไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

มายาคติต่อหาบเร่ฯ ที่ค้นพบคือ 1. เอาเปรียบสังคม ไม่จ่ายภาษี แต่สาเหตุที่แท้จริงคือ ระบบการบริหารของรัฐไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถจัดการภาษีหรือเก็บภาษีหาบเร่ฯ ได้ 2. ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ความจริงมีงานวิจัยขององค์กรวีโก้ที่ยืนยันว่า หาบเร่ฯ ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น 3. สกปรกและเป็นสัญลักษณ์ของความล้าหลัง ประเทศไทยไม่พัฒนาเพราะมีหาบเร่ฯ แต่อันที่จริงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่มีการจัดการระบบสาธารณูปโภค อาทิ ท่อระบายน้ำเสีย การจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ รัฐไม่ได้จัดหาให้ซึ่งรัฐควรลงมาดำเนินการตรงนี้

อดิศักดิ์ แสดงความคิดเห็นต่อว่า หาบเร่ฯ สร้างให้เกิดพื้นที่เมือง และเป็นวัฒนธรรม สร้างความหลากหลายให้แก่เมือง การไล่รื้อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คนต้องการเดินไปในที่ ๆ มีกิจกรรม หาบเร่ฯ สร้างความปลอดภัยและมีชีวิตชีวาให้เมือง

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาดังนี้ 1. นวัตกรรมหาบเร่แผงลอย เช่นแผงลอยอัจฉริยะอย่างการทำกระจกกั้นกันน้ำมันกระเด็น เพราะรถเข็นไม่เคยได้รับการออกแบบหรือปรับปรุงเลย รัฐจึงใช้เป็นสัญลักษณ์ว่าล้าหลัง 2. การบริหารจัดการพื้นที่เพื่อเข้าสู่ระบบในรูปแบบธุรกิจ 3. การบริหารจัดการพื้นที่นำร่องที่มีศักยภาพ ต้องมีความแตกต่างหลากหลายของการใช้พื้นที่ อาทิ ซอยอารีย์ที่มีการสัญจรพลุกพล่าน ถนนข้าวสารซึ่งเป็นพื้นที่เฉพาะ และปากซอยอ่อนนุช 70 ที่ไม่ได้อยู่บนทางเท้า

ณัฏฐ์ดนัย กุลธัชยศนันต์ ผู้ค้าแผงลอยสีลม ร่วมอภิปรายว่า ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ขาดวิสัยทัศน์ เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากในการบริหารจัดการกรุงเทพฯ หาบเร่ฯ มีมาอย่างยาวนาน มีผู้ว่าฯ มากี่คนยังไม่มีการจัดระเบียบ กฎหมายที่ กทม. บังคับใช้มีมานานแล้ว แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายก็เปลี่ยน ผู้ค้าหาบเร่ฯ ต้องปรับตัวตามนโยบายนั้น ผู้ค้าฯ ไม่คิดว่าตัวเองมีอาชีพที่มั่นคง ไม่มั่นใจว่าจะได้กลับมาไหม แต่ผู้ค้าฯ ก็มีการปรับตัว มีความพยายามให้ผู้ค้าฯ ที่ยังขายได้อยู่มีการจัดระเบียบตัวเอง และผู้ค้าฯ ในจุดต่าง ๆ ก็มีการรวมกลุ่ม มีสมาชิกกว่า 30 เขตทั่วกทม. และพร้อมจัดระเบียบตัวเองตามกฎระเบียบของกทม. ขอโอกาสและอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพื่อสร้างกทม.ไปพร้อมกัน

ปวีณา สาดเเละ ผู้ค้าแผงลอยอ่อนนุช 70 นำเสนอว่า จุดที่ขายไม่ได้อยู่บนทางเท้าหรือผิวจราจร และยังได้ใบรับรองจากกรมอนามัยในเรื่องความสะอาด รวมทั้งได้รับรางวัลผู้จำหน่ายอาหารริมทางดีเด่น แต่ทำไมกลับถูกยกเลิก ผู้ค้าฯ ได้ไปขายที่ตลาดประชารัฐตามที่สำนักงานเขตจัดให้ แต่ไม่มีคนมาเดินซื้อของ ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ ระบบสาธารณูปโภคก็ไม่พร้อม จากนั้นได้รวมตัวกันตั้งเป็นชมรมเพื่อให้มีกฎระเบียบ และได้ต่อสู้ทุกวิถีทาง ทั้งการยื่นหนังสือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการทำประชาพิจารณ์ของคนในพื้นที่ มีแผนการพัฒนาตลาด จัดระเบียบตัวเอง มีการอบรม เพื่ออยู่ร่วมกับชุมชนและผู้บริโภค

ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ อภิปรายว่า เมืองมีความเปลี่ยนแปลงและสลับซับซ้อนมาก เชื่อมโยงกับทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ และมีผู้คนช่วยกันสร้าง แต่ผังเมืองจัดทำโดยไม่ฟังเสียงประชาชน หาบเร่ฯ เป็นปัญหาร่วมสมัย เป็นชะตากรรมร่วมกันของผู้คน ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการผ่อนผันหรืออนุเคราะห์ แต่ต้องเรียกร้องสิทธิในการจัดการเมือง ซึ่งคือพื้นที่ชีวิตของผู้ค้าฯ เชื่อมโยงผู้คนที่ได้รับผลกระทบเข้ามาด้วยกัน เราต้องสร้างประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ สร้างสังคมอารยะ มีการเจรจาต่อรองแบบเสมอหน้า ไม่แบมือขอ สร้างกลไกในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกัน

พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์   มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ แสดงความคิดเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้วิธีการจัดการที่ไม่มีนวัตกรรม ไม่มีอารยะ การไล่รื้อเกิดกระบวนการเรียนรู้อะไรบ้าง ทำไมคนชั้นกลางนิ่งเฉยยอมให้คนกลุ่มหนึ่งมาจัดการชีวิตตัวเอง รัฐใช้ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่การเจรจาต่อรอง รัฐต้องยอมรับความคิดที่หลากหลาย