กลุ่มคนงานสมานฉันท์

กลุ่มสมานฉันท์ หรือ กลุ่มโซลิดาริติ้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนงานเพื่อเรียกร้องสิทธิจากโรงงานเบด แอนด์บาธ ซึ่งเป็นโรงงานเย็บผ้าที่รับผลิตสินค้ากีฬาแบรนด์เนมส่งออก การเป็นคนงานที่นั่นถูกกดขี่ใช้งานอย่างหนัก โดยไม่ให้พักมีการทำร้ายร่างกายคนงาน และขัดขวางไม่ให้จัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งกลุ่มคนงานจึงจัดตั้งโรงงานขึ้นมาใหม่โดยใช้ชื่อว่า “โรงงานกลุ่มสมานฉันท์” ภายใต้คำขวัญที่ว่า “โรงงานของคนงาน โดยคนงาน เพื่อคนงาน”

ปี 2545 โรงงานได้ปิดตัวลงอย่างกะทันหัน โดยไม่มีการแจ้งให้คนงานได้รู้ล่วงหน้า ไม่มีการจ่ายค่าจ้างและเงินชดเชยค้างจ่าย ส่งผลให้คนงานกว่า 800 ชีวิตต้องเคว้งคว้าง จากนั้นคนงานจำนวน 350 คน ได้รวมตัวกันและพากันไปชุมนุมใต้ถุนตึกกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545 ถึง มกราคม 2546 เมื่อการเรียกร้องยุติ กลุ่มคนงานจึงจัดตั้งโรงงานขึ้นมาใหม่โดยใช้ชื่อว่า “โรงงานกลุ่มสมานฉันท์” ภายใต้คำขวัญที่ว่า “โรงงานของคนงาน โดยคนงาน เพื่อคนงาน”

ปี  2555 เจ้าของตึกที่เช่าทำเป็นโรงงานอยู่นั้น ประกาศขายตึก ทำให้ต้องตระเวนหาสถานที่ใหม่ ซึ่งโชคดีได้ตึกที่อยู่ถัดไปในซอยเดิม และเริ่มขนย้ายเข้าของในวันที่ 30 ตุลาคม 2555 และโรงงานก็พยายามผลิตเสื้อของตนเองออกวางจำหน่ายเอง ไปพร้อมๆ กับการรับช่วงงานจากบริษัทอื่น และพยายามหาออร์เดอร์จากภายนอกเอง เช่น ในปี 2556 โรงงานผลิตเสื้อยืดออกขายภายใต้ยี่ห้อ ‘Dignity Returns’ ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกันในปี 2557 มีความพยายามรวมกลุ่มคนเย็บภาคอื่นๆ อีก 4 กลุ่มเพื่อจัดตั้งเป็นสหกรณ์คนเย็บผ้า แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากงานเย็บผ้าของโรงงานที่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สมาชิกต้องหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้มีรายได้มาจุนเจือ เช่น การรับเสื้อผ้ามือสองมาขาย

ปี 2559 โรงงานตัดสินใจปรับลดเงินเดือนลง และจัดหาซื้อผ้าในราคาถูก เพื่อเอามาตัดเย็บเสื้อวางจำหน่ายเอง สมาชิกในกลุ่มได้ช่วยกันทุกขั้นตอน และผลัดเวรกันไปขายทั้งหน้าร้านที่ได้เช่าไว้ในตลาดโบ้เบ้ และตลาดนัดใกล้โรงงานวันละ 3-4 ตลาด ถึงกระนั้น ไม่ได้ทำให้รายได้ของโรงงานกระเตื้องมากขึ้นเท่าไรนัก จนถึงช่วงพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคาลัย ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 โรงงานได้ผลิตเสื้อสีดำสกรีนข้อความ เช่น ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย หรือ ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9 ออกวางจำหน่ายเป็นเจ้าแรกๆ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับโรงงานได้เป็นจำนวนมากในช่วงต้น แต่เมื่อมีโรงงานอื่นๆ ผลิตตามกันมา ปริมาณการผลิตของโรงงานสมานฉันท์ก็ลดลงเช่นกัน ดังนั้น การรับเสื้อผ้ามือสองมาจำหน่ายจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ปริมาณการขายไม่ได้ดีนัก โรงงานยังต้องปรับลดค่าแรงอย่างต่อเนื่อง

ปี 2561 “มานพ” แผนกการตลาดได้นำเงินสำรองที่มีอยู่ ไปซื้อผ้ามาเตรียมผลิตต่อจนกระทั่งเงินไม่พอจ่ายค่าแรง สร้างความตึงเครียดให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ในโรงงาน ที่สุดได้มีการประชุมเพื่อตัดสินใจถึงแนวทางของโรงงานร่วมกัน ข้อสรุปของที่ประชุมต่างเห็นร่วมกันว่า โรงงานต้องเข้าไปประมูลเพื่อรับงานมาจัดการเองทั้งหมด แทนการรับงานจากบริษัทอื่นๆ มาทำเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งมักเผชิญกับปัญหาที่บางครั้งบริษัทที่ส่งงานมาไม่จ่ายเงินตามระยะเวลาที่กำหนด และหากเป็นช่วงกลางปีธุรกิจการเม้นท์งานจะน้อยลง 30-50% ทำให้โรงงานขาดสภาพคล่องในการรับภาระค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ของโรงงาน

ปี 2562 ตัดสินใจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อความคล่องตัวในการรับงานประมูล อีกทั้งประสบการณ์และความชำนาญในการรับงานประมูลเองมีมากขึ้น โรงงานจึงสามารถประมูลงานได้ต่อเนื่องมากขึ้น เช่น โครงการของธนาคารการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร (ธกส.) บริษัทย่อยในเครือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทำให้ต้องรับสมัครคนงานเพิ่ม ซึ่งในปัจจุบันทางกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 30 คน

ปี 2563-2564 เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ทั่วโลก สำหรับรัฐบาลไทยได้ตัดสินใจออกมาตรการ ‘ล๊อกดาวน์’ หรือปิดพื้นที่ ปิดกิจการบริการและสถานบันเทิงชั่วคราว รวมถึงมาตรการรักษาระยะห่างของผู้คน การต้องสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกัน และอื่นๆ ส่งผลต่อการรับประมูลเสื้อผ้าที่เป็นช่องทางหารายได้ของกลุ่ม นั้นต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ตามทางกลุ่มได้วางแผนปรับตัวกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการหันมารับผลิตหน้ากากผ้าออกจำหน่าย ควบคู่กับการยืนซองประมูลเสื้อผ้า พร้อมทั้งวางแผนที่จะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม

สินค้าภายใต้กลุ่มคนงานสมานฉันท์ จะเป็นในรูปแบบของการให้บริการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตามคำสั่งลูกค้า เช่น เสื้อยืด คอกลมโปโล ชุดพละ ชุดนักเรียน เสื้อแจ๊คเกต เสื้อกีฬา ชุดกีฬา ผ้ากันเปื้อน ถุงผ้า เป็นต้น โดยจะรับผลิตขั้นต่ำ 100 ตัวขึ้นไป