กลุ่มหัตถกรรมเครื่องทองลงหิน

กลุ่มหัตถกรรมเครื่องทองลงหิน ชุมชนประดิษฐโทรการ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร  เกิดการรวมตัวขึ้น นำโดยคุณสมคิด ด้วงเงิน ซึ่งทางกลุ่มต้องการให้หัตถกรรม มีความเข้มแข็งในการต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลาง เพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นและหัตถกรรมทองลงหินให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป

          ในปี 2533 เป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มเครื่องหัตถกรรมทองลงหิน ที่มีการรวมกลุ่มกันที่ได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากสำนักงานเขตจตุจักร และได้รับเงินทุนตั้งต้นสนับสนุนจากนักการเมือง กทม. จำนวน 150,000 บาท อีกทั้งยังมีสถานศึกษาระแวกใกล้เคียงเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ โดยมี คุณสมคิด ด้วงเงิน เป็นผู้นำกลุ่มเครื่องทองลงหิน ชุมชนประดิษฐ์โทรการ  และมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อคอยช่วยเหลืองานภายในกลุ่ม จำนวน 20 คน สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่มีภูมิลำเนามาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดปราจีนบุรี แต่ในปัจจุบันกลุ่มเครื่องทองลงหิน มีสมาชิกถึง 55 คน มีช่างยอดฝีมือถึง 10 คน  

           ในยุคที่ตลาดทองลงหินรุ่งเรือง มียอดการสั่งงานเข้ามาจากร้านจิวเวลรี่ แถวเจริญกรุงอย่างต่อเนื่อง และยังมีตลาดต่างประเทศที่สนใจผลิตภัณฑ์นี้อย่างมาก เช่น ประเทศแถบเอเชียกลาง ยุโรป  รวมถึงมีการนำสินค้าไปขายในงานสินค้า OTOP งานแสดงสินค้าตามหน่วยราชการที่เชิญเข้าร่วม ขายผ่านหน้า Facebook  Line  ห้างสรรพสินค้า ฝากขาย  Central Iconsiam SiamCraft  จนทำให้ทางกลุ่มต้องหาคนมาทำงานเพิ่ม ร่วมถึงได้มีการกระจายออเดอร์ ไปตามกลุ่มเพื่อนบ้านในชุมชนที่ประกอบอาชีพเดียวกันทำ ส่งผลให้คนในชุมชนมีงานทำ มีรายได้ ตลอดจนทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง  แต่ในปัจจุบันตลาดเครื่องทองลงหินได้ซบเซาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดที่ทำให้รายได้ของกลุ่มเหลือประมาณ 0-20,000 บาท ต่อเดือน ตลอดระยะเวลาในการพัฒนากลุ่ม และพัฒนาสินค้าเครื่องทองลงหิน ทางกลุ่มได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานเขตจตุจักร  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ  

          ในปัจจุบันกลุ่มเครื่องทองลงหินได้ผลิตสินค้าประเภทอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร เช่น ช้อน-ส้อมรับประทานอาหาร  ช้อน-ส้อมชาและกาแฟ มีด กำไลข้อมือ เป็นต้น จุดเด่นของสินค้าเครื่องทองลงหินที่ทางกลุ่มผลิตขึ้นนั้น เรียกได้ว่าเป็นการทำด้วยช่างฝีมือไทยที่สืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ลวดลายของผลิตภัณฑ์มีทั้งลวดลายที่สื่อถึงวัฒนธรรมไทย ขณะเดียวกันก็มีลวดลายที่ผสมผสานแล้วมีความทันสมัยและเป็นที่นิยม