กลุ่มจักรสานเส้นพลาสติก

กลุ่มจักรสานเส้นพลาสติก ชุมชนประดิษฐโทรการ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เป็นการขยายกลุ่มออกมาจากกลุ่มหัตถกรรมเครื่องทองลงหินที่ส่วนใหญ่มีสมาชิกเป็นผู้ชาย แต่การขยายและตั้งเป็นกลุ่มจักรสานเส้นพลาสติก จะนำโดยสตรีในชุมชน ที่มีความต้องการหาอาชีพเสริม และเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว และเพื่อส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทในชุมชนมากขึ้น

ในปี 2552 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้เข้ามาใช้ศาลาประชุมของชุมชน เป็นสถานที่สำหรับการเรียนหนังสือของนักเรียน กศน.ทุกวันอาทิตย์ ทำให้คุณครูหลายๆ คนรู้จัก และคุ้ยเคยกับชาวบ้านในชุมชนประดิษฐโทร ซึ่งในสถานการณ์ที่ทางกลุ่มหัตถกรรมเครื่องทองลงหิน มียอดการขายลดลง สมาชิกส่วนใหญ่เริ่มหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว ในขณะเดียวกันสมาชิกผู้หญิงก็มีการรวมตัวกัน และไปปรึกษาคุณครู กศน. เพื่อหาแนวทางการประกอบอาชีพ ประกอบด้วยทาง กศน. ก็มีโครงการฝึกสอนอาชีพต่างๆให้ชุมชนด้วย จึงทำให้ทางกลุ่มตัดสินใจเข้าไปขอคำปรึกษาจนได้ข้อตกลงที่จะสานตะกร้าเส้นพลาสติก เพราะทางกลุ่มมองว่า การสานตะกร้าเส้นพลาสติก นั้นใช้ต้นทุนไม่สูง เป็นสินค้าที่ไม่เน่าเปื่อย สามารถเก็บได้นาน ทั้งยังสามารถทำอาชีพเดิมได้ ประกอบกับสามารถทำงานเพื่อช่วยเหลือชุมชนได้อีกด้วย 

ต่อมาในปี 2557  มูลนิธิศุภนิมิตได้สนับสนุนเงินทุนกับทางกลุ่ม เป็นจำนวนเงิน 25,000 บาท เพื่อเป็นค่าวัสดุ อุปกรณ์ในการผลิตสินค้าของกลุ่มต่อมาทางมูลนิธิศุภนิมิต ยังสนับสนุนให้ทางกลุ่มสามารถจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มอย่างเป็นทาง การ ตลอดจนหน่วยงานพัฒนาชุมชนจากสำนักงานเขตจตุจักร มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ได้เข้ามาส่งเสริมและร่วมพัฒนากลุ่มทั้งในด้านการผลิตสินค้า การสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม การบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันทางกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 7 คน

สินค้าภายใต้กลุ่มจักรสานเส้นพลาสติก เป็นสินค้าจำพวกตะกร้า กระเป๋า ที่ใส่แก้วน้ำ กระเช้าสำหรับจัดของขวัญ และรับผลิตตามพรีออเดอร์ ซึ่งราคาสินค้าสินค้าของกลุ่มไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ทางกลุ่มจำหน่ายโดยการออกบูทสินค้า ตามคำเชิญของสำนักงานเขตจตุจักร หรือกลุ่มเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันเท่านั้น เนื่องจากทางกลุ่มไม่มีต้นทุนที่จะสามารถจ่ายค่าเช่าที่เพื่อขายสินค้าได้ เพราะมีราคาสูง อย่างไรก็ตามทางกลุ่มยังเพิ่มช่องทางหารายได้เข้ากลุ่ม โดยการเป็นวิทยากรสอนการสานตะกร้า ทั้งนี้ทางกลุ่มมองว่า สินค้าของกลุ่มยังต้องพัฒนา และสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับสินค้า เพื่อให้ดึงดูความสนใจแก่ลูกค้า ตลอดจนสามารถเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มได้